วัชระเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร
วัชระเฉทิกปรัชญา ปารมิตาสูตร
ข้าพเจ้าได้สดับมาดั่งนี้ ว่าครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนารามวิหาร ในอุทยานของท่านอนาถบิณฑิกะโกล้กรุงสาวัตถี พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ 1,250 รูป
วันนั้นเมื่อได้เวลาบิณฑบาตโปรดสัตว์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงครองจีวร สังฆาฏิ ทรงบาตร แล้วเสด็จพุทธดำเนินไปในนครสาวัตถี ทรงบิณฑบาตตามบ้านเรือนไปตามลำดับ เมื่อทรงกิจเสร็จกลับไปที่ประทับ เสวยภัตตาหารเพล จากนั้นทางปลดสังฆาฏิ เก็บบาตรขึ้น ชำระพระบาท ทรงลาดอาสนะ แล้วประทับนั่ง
ครั้งนั้นพระสุภูติมหาเถระได้ลุกขึ้น ลดจีวรไหล่ขวาพาดเฉวียงบ่าซ้าย แล้วคุกเข่าประคองอัญชลีทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงติดตามสั่งสอน ชี้ทาง และวางพระทัยในปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ”
“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากกุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะบรรลุธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาและเธอควรตั้งจิตและควบคุมจิตของตนอย่างไร พระเจ้าข้า ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ สาธุ สุภูติ ที่เธอกล่าวนั้นเป็นความจริงทีเดียวตถาคตได้ติดตาม สั่งสอน ชี้ทาง และวางใจในปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ จงตั้งใจฟังเราจักแสดงแก่เธอ หากกุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะตรัสรู้ธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาควรตั้งจิตและโน้มนำจิตของตนอย่างนี้ ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์มีความปราบปลื้มยินดี เฝ้าคอยสดับอยู่ ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสสุภูมิ “ ปวงพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ ควรจักตั้งจิตและโน้มนำจิตของตนอย่างนี้ว่า สรรพสัตว์ไม่ว่าจักเป็นเหล่าใด ๆ จักเกิดจากฟองไข่ก็ดี เกิดจากครรภ์ก็ดี เกิดจากคราบไคลความชื้น หรือผุดขึ้นมาเองก็ดี จักมีรูปหรือไม่มีรูปก็ดี จักมีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เราจักต้องสั่งสอน ชี้ทางให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นบรรลุนิพพานได้วิมุตติ หลุดพ้นเป็นอิสระและเมื่อสรรพสัตว์อันไม่สิ้นสุดไม่มีประมาณนี้ลุถึงความเป็นอิสระแล้ว เราย่อมไม่คิดเลยว่าสัตว์ใดลุถึงความเป็นอิสระ
ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่า ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีจิตยึดมั่นผูกพันอยู่ด้วยตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะแล้วไซร้ นั่นหาชื่อว่าพระโพธิสัตว์แท้จริงไม่ ”
“ อนึ่ง สุภูติ เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทาน ท่านย่อมไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใด กล่าวคือ ไม่ยึดรูป ไม่ยึดเสียง ไม่ยึดกลิ่น รส โผฎฐัพพะและธรรมารมณ์ สุภูติเอย พระโพธิสัตว์พึงมีจิตใจเช่นนี้ในการบำเพ็ญทาน คือไม่ยึดมั่นอยู่กับสัญญาใด ๆ ไฉนจึงเป็นเช่นนี้เล่า ก็เพราะเหตุว่า เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสัญญาใด ๆ แล้ว ความปีติปราโมทย์ที่ได้รับย่อมไม่อาจประมาณได้เลย สุภูติเธอคิดว่าอวกาศในฟากฟ้าตะวันออกเป็นสิ่งที่จะวัดประมาณได้ละหรือ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ”
“ สุภูติ แล้วฟากฟ้าด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านเหนือเล่า ตลอดจนอวกาศ ทิศเบื้องบนและทิศเบื้องล่างจักเป็นสิ่งที่วัดประมาณได้อยู่ฤา ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ”
“ ดูก่อน สุภูติ หากพระโพธิสัตว์ไม่คิดยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใดในการบำเพ็ญทานแล้ว ความปีติปราโมทย์ซึ่งได้จากการบำเพ็ญทานนั้นย่อมไพศาลดุจห้วงอวกาศซึ่งไม่อาจประมาณนั่นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงตั้งจิตดังคำสอนที่ตถาคตได้กล่าวแสดงนี้ ”
“ ดูก่อน สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน การเห็นตถาคตนั้นจักพึงเห็นได้ด้วยรูปลักษณะฤาหนอ ”
“ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค หามิได้ พระเจ้าข้า เมื่อพระตถาคตตรัสถึงรูปลักษณะแท้จริงแล้วมิได้มีรูปลักษณะอยู่เลย ”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่สุภูติ “ ที่ใดมีรูปลักษณะที่นั่นมีมายา ถ้าสามารถเห็นแจ้งว่าธรรมชาติของรูปลักษณะทั้งปวงไร้รูปก็ย่อมเห็นตถาคตได้ ”
ภิกษุสุภูติกราบทูลพระผู้มีพระภาค “ ในกาลข้างหน้าหากจักมีสัตว์ใด เมื่อสดับพระธรรมคำสอนนี้แล้ว บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริงขึ้นได้หนอ ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ อย่ากล่าวอย่างนั้นสิสุภูติ เมื่อตถาคตดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้วห้าร้อยปี ก็ยังจะมีผู้ได้เสวยรสธรรมจากการปฏิบัติตามพระสัทธรรมนี้ เมื่อบุคคลเช่นนั้นได้ฟังพระธรรมคำสอนนี้เข้าจักบังเกิดศรัทธาเลื่อมใสว่าพระสัทธรรมนี้คือสัจจะ ดังนั้นแล้ว จงสำเหนียกไว้เถิด ว่าบุคคลนั้นหาได้ปลูกฝังกุศลมูลเพียงในกาลสมัยแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวหรือในกาลสมัยแห่งพระพุทธเจ้าสองพระองค์ สาม สี่ หรือห้าพระองค์เท่านั้น แท้จริงแล้วเขาได้สั่งสมบุญกุศลมาตลอดพุทธะสมัยแห่งพระพุทธเจ้าอเนกอนันต์นับพันนับหมื่นพระองค์ บุคคลใดได้สดับพระธรรมซึ่งตถาคตได้ตรัสแสดง แล้วบังเกิดศรัทธาด้วยจิตบริสุทธิ์สว่างไสวแม้เพียงชั่วขณะจิตเดียว ตถาคตย่อมเห็นและรู้ว่าบุคคลนั้นจักเกิดปีติปราโมทย์อย่างไม่อาจประมาณได้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ”
“ ก็เพราะเหตุว่า บุคคลเช่นนั้นไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดเนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ เขาไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับธรรมและอธรรม ไม่ยึดมั่นว่านี้คือรูปลักษณะ นั่นไม่ใช่รูปลักษณะเช่นนั้น เพราะเหตุใด ก็เพราะว่า ถ้าบุคคลยึดมั่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับธรรม จิต บุคคลนั้นก็ยังผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ ถ้าเขายึดมั่นอยู่กับความคิดว่าไม่มีธรรม จิตเขาก็ยังผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ อยู่นั่นเอง ฉะนั้นบุคคลจึงไม่พึงยึดถือผูกพันอยู่กับธรรมหรือคิดว่าธรรมเป็นสิ่งไม่มีอยู่ นี่คือนัยความหมาย เมื่อตถาคตกล่าวว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงกำหนดรู้ ว่าธรรมที่เราแสดงมีอุปมาดั่งพ่วงแพ ” แม้แต่สิ่งที่ตถาคตสอนก็ต้องละเสีย จักกล่าวไปใยถึงที่ไม่ได้กล่าวเทศนา ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ตถาคตได้บรรลุถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน กระนั้นหรือตถาคตได้แสดงธรรมเทศนาอยู่ฤา ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามที่ข้าพระองค์เข้าใจนั้นพระธรรมคำสอนของตถาคตไม่มีธรรมารมณ์อิสระที่เรียกว่า จิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ไม่มีคำสอนใดของพระตถาคตดำรงเอกภาวะ ไฉนซึ่งเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้และเทศนาสั่งสอนนั้นไม่อาจบรรยาย ไม่อาจกล่าวได้ว่าดำรงภาวะอิสระแยกจากกัน ไม่เป็นทั้งตัวตนดำรงอยู่ หรือไม่มีตัวตนดำรงอยู่ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า พระอริยะบุคคลย่อมต่างจากผู้อื่น ก็ด้วยอสังขตธรรมนี้แล ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ถ้าบุคคลใดบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ บุคคลนั้นจะได้เสวยปีติสุขมากล้นเพราะกุศลกรรมนี้ฤาไฉน ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ เช่นนั้น พระเจ้าข้า เพราะกุศลกรรมและปีติสุขเช่นนั้น มิใช่กุศลกรรมและปีติสุขดั่งที่พระตถาคตทรงแสดง ”
พระผู้มีพระภาคตรัส “ อนึ่ง ถ้าบุคคลใดยอมรับคำสอนนี้แล้วนำไปปฏิบัติแม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท และยังอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วย ปีติสุขจากกุศลกรรมนี้ย่อมลึกซึ้งไพศาลกว่าปีติสุขจากการบริจาคสัปต-รัตนะมากมายนัก ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น สุภูติเอย ก็เพราะว่าบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระธรรมของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานทุกพระองค์ ล้วนบังเกิดจากคำสอนนี้ สุภูติ ที่เรียกว่าพุทธธรรม คือทุกสิ่งที่ไม่ใช่พุทธธรรม
.....
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 12:10:00 ]
ความคิดเห็นที่ 1
(ต่อ)
“ ดูก่อน สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า พระโสดาบันจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุโสดาปัตติมรรคผล ' ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า พระโสดาบันนั้นชื่อว่า เป็นผู้เข้าสู่กระแส แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีกระแสให้เข้าสู่เลย บุคคลมิได้เข้าสู่กระแสซึ่งเป็นรูป เป็นเสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธรรมารมณ์ เมื่อกล่าวว่าบุคคลเข้าสู่กระแสก็คือเข้าสูกระแสโดยนัยนี้ พระเจ้าข้า ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระสกทาคามีจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุสกทาคามิผล ' ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระสกทาคามีชื่อว่าจักเป็นผู้เวียนกลับมาอีกครั้งเดียว แต่แท้จริงแล้วมิได้มีการไปมิได้มีการกลับ นี่คือความหมายเมื่อกล่าวว่าบุคคลจักเวียนกลับมาอีกครั้ง ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระอนาคามีจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุอนาคามีผล ' ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระอนาคามีมีชื่อว่า เป็นผู้ไม่เวียนกลับมาในโลกนี้อีก แต่แท้จริงแล้วมิได้มีสภาวะของการไม่เวียนกลับนี่คือความหมายเมื่อกล่าวว่า บุคคลจักไม่เวียนกลับมาในโลกนี้อีก ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระอรหันต์มีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรุลอรหัตตผล ' ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่ามิได้มีสภาวะอิสระใดที่อาจเรียกว่า อรหันต์ ถ้าอรหันต์คิดว่าท่านได้บรรลุอรหัตตผล ก็เท่ากับท่านติดข้องอยู่ในความคิด เนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะนั่นเอง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งเสมอว่าข้าพระองค์บรรลุแล้วซึ่งอรณยิกสมาธิอันสงบ ว่าข้าพระองค์เป็นพระอรหันต์สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง เป็นผู้ยอดเยี่ยมในชุมชนสงฆ์แห่งนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากแม้นว่าข้าพระองค์คิดว่าข้าพระองค์ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วไซร้ พระตถาคตย่อมจักไม่ตรัสว่าข้าพระองค์ยินดีในอรณยิกสมาธิธรรม พระเจ้าข้า ”
พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ดู่ก่อนสุภูติ ณ เบื้องอดีตกาลโน้น เมื่อตถาคตยังท่องเที่ยวอยู่ในสมัยของพระทีปังกรพระพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุธรรมอันใดฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ณ เบื้องอดีตกาลโน้น ครั้งเมื่อพระตถาคตยังท่องเที่ยวอยู่ในสมัยของพระทีปังกรพุทธเจ้า พระตถาคตมิได้บรรลุธรรมอันใด พระเจ้าข้า ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระโพธิสัตว์ได้ตกแต่งพุทธเกษตร อันสงบงดงามกระนั้นหรือ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า ในการตกแต่งพุทธเกษตรอันสงบงดงามนั้น แท้จริงแล้วมิได้มีการตกแต่งอย่างใด ดังนี้พุทธเกษตรอันสงบงดงามจึงได้บังเกิดขึ้น ”
พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ดังนี้แล สุภูติ พระโพธิสัตว์และมหาสัตว์ ทั้งปวงจึงพึงยังจิตให้บริสุทธิ์ สะอาดอยู่เป็นนิจ เมื่อตั้งจิตไว้เช่นนี้ พระโพธิสัตว์และมหาสัตว์จึงไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เป็นจิตอิสระไม่เกี่ยวเนื่องอยู่ด้วยสภาวะใด ๆ ”
“ สุภูติ แม้นบุคคลใดรูปร่างสูงใหญ่ดั่งเขาพระสุเมรุ เธอคิดว่ารูปกายนั้นสูงมหึมากระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ มหึมานัก พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตตรัสถึงมิใช่รูปกายอันสูงมหึมา เป็นแต่ชื่อว่ารูปกายสูงมหึมา พระเจ้าข้า ”
“ ดูก่อน สุภูติ แม้นว่ามีคงคานทีมากมหาศาลเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา เธอจะกล่าวได้ฤาว่า จำนวนเม็ดทรายในนทีเหล่านี้มากมหาศาล ”
สุภูติตอบ “ มหาศาลยิ่งนัก พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้นว่าคงคานทีมีมากมหาศาลแล้ว จำนวนเม็ดทรายในนทีเหล่านี้ย่อมอเนกอนันต์กว่านั้นนัก ”
“ สุภูติ เราจักถามเธอว่า ถ้ากุลบุตรกุลธิดาบำเพ็ญทานบริจาคจนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ ด้วยสัปตรัตนะมากเท่าจำนวนเม็ดทรายในท้องนทีเหล่านี้แล้ว เขาจักบังเกิดปีติปราโมทย์ยิ่งนักกระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ ยิ่งนักแล้ว พระเจ้าข้า ”
พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาบังเกิดศรัทธาพระสูตรนี้ รับปฏิบัติ และอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วย แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท เขาจะได้ความปีติปราโมทย์เป็นอานิสงส์มากมายกว่านั้นนัก ”
12 Top
“ อนึ่งเล่า สุภูติหากพระสูตรนี้ได้ประกาศแสดง ณ ดินแดนใด แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาทแล้ว เทวดา มนุษย์ และมาร จักพากันมาสักการะบูชาดินแดนนั้นประหนึ่งดังบูชาพระพุทธสถูป เมื่อสถานที่ยังศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลได้ถึงเพียงนี้ บุคคลผู้สาธยายและปฏิบัติตามพระสูตรจักจำเริญมงคลยิ่งกว่าเพียงไหน สุภูติเอย เธอจงสำเหนียกไว้เถิดว่า บุคคลนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งสิ่งลึกซึ้งหายาก ที่ใดมีพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ ที่นั่นย่อมเป็นสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ดุจมีพระอัครสาวกพำนักหรือมีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ด้วย ”
จากนั้นอรหันต์สุภูติได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ ข้าแต่พระองค์ พึงเรียกพระสูตรนี้นามใด และข้าพระองค์ทั้งหลายจักพึงปฏิบัติต่อพระสัทธรรมนี้อย่างไร พระเจ้าข้า ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ พึงเรียกพระสูตรนี้ว่า วัชรเฉทิก (เพชรตัดทำลายมายา) เพราะเหตุว่าเป็นพระสูตรอันตัดทำลายมายากิเลสทั้งปวง และนำสรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งวิมุตติ จงเรียกพระสูตรตามนามนี้ และปฏิบัติตามพระสัทธรรมอันลึกซึ้งแห่งพระสูตรนั้นเถิด ไฉนจึงกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตเรียกปัญญาบารมีแท้จริงแล้วใช่ปัญญาบารมีไม่ ปัญญาบารมีที่แท้ย่อมมีนัยดังกล่าวมานี้ ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาครับสั่ง “ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ตถาคตได้แสดงธรรมอยู่ฤา ”
ภิกษุสุภูติตอบ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตเจ้ามิได้มีสิ่งใดจักแสดง ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ในสามล้านอสงไขยโลกธาตุนี้มีปรมาณุภาคมากมายกระนั้นหรือ ”
“ มากมายนัก พระเจ้าข้า ”
“ สุภูติ ตถาคตกล่าวว่าปรมาณุภาคเหล่านี้มิใช่ปรมาณุภาค ฉะนี้จึงเป็นปรมาณุภาคที่แท้จริง และเมื่อตถาคตกล่าวถึงโลกธาตุแท้จริงแล้วมิได้มีโลกธาตุอยู่เลย ดังนี้จึงได้ชื่อว่าโลกธาตุ ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ จักพึงเห็นตถาคตได้ในลักษณะ 32 ประการ กระนั้นหรือ ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าลักษณะ 32 ประการที่พระตถาคตทรงรับสั่งนั้น แท้จริงแล้วมิใช่ลักษณะอันใดเลย ฉะนี้พระตถาคตจึงตรัสเรียกลักษณะ 32 ประการ พระเจ้าข้า ”
“ สุภูติเอย หากแม้นกุลบุตรกุลธิดาใดสละชีวิตเป็นทานครั้งแล้ว ครั้งเล่าเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา ส่วนกุลบุตรกุลธิดาอื่น ๆ รู้จักรับปฏิบัติพระสูตรนี้ แล้วยังอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่น แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท กุลบุตรกุลธิดาเหล่าหลังนี้จักได้รับความสุขเป็นอานิสงส์มากมายยิ่งกว่านัก ”
เมื่อเข้าใจสิ่งที่ได้สดับอย่างลึกซึ้งแจ่มแจ้ง ภิกษุสุภูติน้ำตาไหลด้วยความปีติ กราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จะหาใครในโลกนี้เสมอเหมือนพระองค์ได้ยากนัก นับแต่ข้าพระองค์ได้ดวงตาเห็นธรรมจากการแนะนำสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ไม่เคยได้ฟังคำสอนใดลึกซึ้งอัศจรรย์เช่นนี้มาก่อน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้นผู้ใดได้สดับพระสูตรนี้แล้วได้บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสด้วยจิตใยบริสุทธิ์สว่างไสว ได้บรรลุธรรมสัจจะ บุคคลผู้นั้นย่อมแจ่มแจ้งในกุศลธรรมอันหาได้ยากนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การบรรลุถึงธรรมสัจจะนี้ แท้จริงแล้วมิได้มีการบรรลุเลย ฉะนี้เองพระตถาคตเจ้าจึงตรัสเรียกว่าบรรลุถึงธรรมสัจจะ
“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์ได้สดับพระสูตรอันอัศจรรย์ บังเกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจและรับปฏิบัติได้ไม่ยาก แต่ในกาลข้างหน้า เมื่อล่วงไปอีกห้าร้อยปี ถ้าแม้นผู้ใดได้ฟังพระสูตรนี้ยังเกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจและรับปฏิบัติ บุคคลเช่นนี้ย่อมเป็นเลิศหาได้ยากแท้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า จิตของบุคคลนั้นจะไม่ถูกครอบงำ ด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ข้อนี้เพราะเหตุใด เพราะความคิดเกี่ยวด้วยตัวตนแท้จริงแล้วมิใช่ความคิด ความคิดเกี่ยวบุคคล สัตวะ และชีวะ ก็มิใช่ความคิดเช่นกัน ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งปวงได้พระนามว่า พระพุทธเจ้า ก็เพราะท่านเหล่านั้นล้วนเป็นอิสระแล้วจากความคิด
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ เช่นนั้น เช่นนั้น สุภูติ แม้นผู้ใดได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว ไม่ตกใจครั่นคร้าม เขาหรือเธอเช่นนั้นย่อมหาได้ยากยิ่ง ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตเรียกปรมบารมีอันเลิศนั้น แท้จริงแล้วใช่บารมีอันเลิศ ดังนี้จึงได้ชื่อว่าบารมีอันเลิศ ”
“ ดูก่อน สุภูติ ตถาคตกล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่าขันติบารมีนั้นแท้จริงแล้วมิใช่ขันติบารมี ดังนี้ จึงได้ชื่อว่าขันติบารมี ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลเมื่อหลายพันชาติก่อน เมื่อพระเจ้ากลิราชา สั่งให้บั่นร่างกายเราเป็นท่อน ๆ นั้น จิตเรามิได้ยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะเลย ถ้าเมื่อครั้งกระนั้นเรายึดมั่นอยู่กับความคิดเหล่านี้ เราย่อมโกรธอาฆาตราชาพระองค์นั้นเป็นแน่แท้
“ อนึ่ง เรายังตามระลึกถึงกาลที่ล่วงมาแล้วห้าร้อยชาติ เมื่อเราบำเพ็ญขันติบารมีโดยจิตไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ดังนี้แล สุภูติ เมื่อพระโพธิสัตว์บรรลุถึงพุทธจิต รู้ตื่นเป็นนิจอย่างไม่มีใครเสมอเหมือนนั้น ท่านต้องละทิ้งความคิดทั้งปวง เมื่อจิตถึงขั้นนี้แล้ว ท่านย่อมไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย ”
“ ตถาคตกล่าวว่าสิ่งของทั้งหลายไม่ใช่สิ่งของ ชีวิตทั้งหลายไม่ใช่ชีวิต สุภูติเอย ตถาคตคือผู้พูดทุกสิ่งตามที่เป็นจริง พูดแต่ความจริง พูดตรงกับความจริง ท่านไม่พูดลวงไม่หลง หรือพูดเพื่อเอาใจผู้คน สุภูติแม้นเราพูดว่า ตถาคตเห็นแจ้งในธรรมที่สั่งสอน คำสอนทั้งปวงนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่อาจติดตามยึดถือ หรือเป็นสิ่งลวงไร้แก่นสาร ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์องค์ใดบำเพ็ญทานด้วยความสำคัญมั่นหมาย อุปมาดั่งบุคคลเดินอยู่ในความมืด เขาจะไม่เห็นสิ่งใด แต่ถ้าพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานโดยละความสำคัญมั่นหมายแล้วไซร้ อุปมาดั่งบุรุษตาดีเดินอยู่กลางแดดสว่าง เขาย่อมเห็นทุกสีสันทุกรูปทรง ”
“ สุภูติเอย ในอนาคตข้างหน้า ถ้ากุลบุตรกุลธิดาใดบังเกิด ศรัทธาเลื่อมใสพระสูตรนี้ ได้อ่านแล้วปฏิบัติตามแล้วไซร้ ตถาคตย่อมเห็นบุคคลผู้มีดวงตาแห่งปัญญาผู้นั้น ตถาคตจะรู้จักเธอและบุคคลนั้นก็จะประจักษ์ถึงผลอานิสงส์มากล้นสุดประมาณ จากบุญกุศลซึ่งเขาหรือเธอได้กระทำ ”
....
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 12:11:47 ]
ความคิดเห็นที่ 2
(ต่อ)
“ อนึ่งเล่า สุภูติ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาใดสละชีวิตบำเพ็ญทานยามเช้ามากครั้งเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา แล้วยังบำเพ็ญทานยาม บ่าย ยามค่ำ และทำต่อไปไม่สิ้นสุดนับกัปกัลป์ กระนั้นบุคคลผู้สดับพระสูตรนี้ด้วยจิตศรัทธาไม่คัดค้านย่อมได้ความปีติปราโมทย์เป็นอานิสงส์มากมายกว่านั้นนัก แต่นั้นก็ไม่อาจเทียบได้กับความปีติปราโมทย์ที่จะบังเกิดแก่บุคคลผู้จดจำ คัดลอก ปฏิบัติ เจริญสาธยาย และอธิบายพระสูตรนี้เผยแผ่แก่ผู้อื่น
“ สุภูติเอย กล่าวโดยสรุป พระสูตรนี้มีคุณานิสงส์อันจะยังให้เกิดความสุขอย่างไม่อาจประมาณ แม้นว่าผู้ใดสามารถปฏิบัติ เจริญสาธยาย และประกาศเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วยแล้ว ตถาคตจะเห็นและรู้จักบุคคลนั้น ส่วนเขาหรือเธอผู้นั้นก็จะได้บุญกุศลอเนกอนันต์สุดจะเปรียบเทียบพรรณนา หรือประมาณได้ บุคคลเช่นนี้และจักสามารถเชิดชูพุทธาชีวะอันรู้ตื่น รู้เบิกบานแห่งตถาคต ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น สุภูติ หากผู้ใดยังพอใจอยู่กับคำสอนเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าเขาหรือเธอยังติดข้องอยู่กับความคิดเนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะแล้วไซร้ เขาหรือเธอย่อมไม่อาจฟังพระสูตรนี้ ไม่อาจปฏิบัติ ไม่อาจสาธยาย และอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นได้เลย สุภูติ ที่ใดมีพระสูตรนี้ที่นั่นย่อมเป็นสถานซึ่งเทวดา มนุษย์ และมารจักมาทำการสักการะ สถานที่นั้นคือ พุทธสถูป ควรแก่การกระทำพิธีกราบไหว้บูชา กระทำประทักษิณ ถวายดอกไม้และเครื่องหอม
“ สุภูติ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาใดถูกดูหมิ่นกล่าวร้าย ขณะสาธยายพระสูตรนี้บาปกรรมทั้งหลายที่เขาหรือเธอเคยกระทำมาแต่ชาติปางก่อนตลอดจนอกุศลกรรมซึ่งอาจนำเขาหรือเธอสู่อบายภูมิก็จะหมดสิ้นไป เขาและเธอจะได้เสวยผลแห่งพุทธจิตอันรู้ตื่น รู้เบิกบานอยู่เป็นนิจ สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลโน้น ก่อนเราจะได้พบพระทีปังกรพุทธเจ้าเราเคยถวายเครื่องบูชา ได้เฝ้าปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธเจ้าจำนวน 84,000 ล้านอสงไขยพระองค์ ถ้าในกาลข้างหน้าเมื่อถึงปลายสมัยแห่งพระสัทธรรม ยังมีบุคคลใดสามารถเลื่อมใส สาธยาย ศึกษา และปฏิบัติพระสูตรนี้ สุขานิสงส์ จากการบำเพ็ญกุศลนี้จักยิ่งใหญ่ไพศาลกว่าที่เราเคยได้รับในอดีตกาลเป็นล้านเท่า แท้จริงแล้วความปีติปราโมทย์นั้นไม่อาจประมาณ ไม่อาจเปรียบเทียบกับสิ่งใดแม้กับตัวเลข ความปีติปราโมทย์นั้นมากล้นคณนา ”
“ ดูก่อน สุภูติ สุขานิสงส์ซึ่งกุลบุตรกุลธิดาผู้เลื่อมใส สาธยาย ศึกษา และปฏิบัติพระสูตร จะได้รับเพราะกุศลอันบำเพ็ญ ณ ปลายสมัยแห่งพระสัทธรรมนั้นใหญ่หลวงนัก หากเราจะแจกแจงอธิบายไซร้บางคนจะสงสัยไม่เชื่อ เกิดวิจิกิจฉาขึ้นในจิต สุภูติเอย เธอพึงสำเหนียกไว้เถิดว่าอรรถธรรมแห่งพระสูตรนี้เป็นสิ่งไม่อาจคิดนึกหรือพรรณนาผลานิสงส์จากการเลื่อมใส และปฏิบัติพระสูตรก็เป็นสิ่งไม่อาจคิดนึก ไม่อาจพรรณนาได้ดุจเดียวกัน ”
ในกาลครั้งนั้น ภิกษุสุภูติได้กราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานอนุญาต กราบทูลถามอีกครั้ง ว่าถ้ากุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะตรัสรู้ธรรมบรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาและเธอควรตั้งจิตและควบคุมจิตของตนอย่างไรพระเจ้าข้า ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ ดูก่อน สุภูติ กุลบุตรกุลธิดาผู้ปรารถนาจะตรัสรู้ธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน พึงตั้งจิตดังนี้ ‘ เราจักนำสรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งแห่งความตื่น และเมื่อปวงสัตว์เหล่านั้นได้วิมุตติ หลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว เราจักไม่คิดเลยว่าสัตว์ใดได้วิมุตติหลุดพ้นเป็นอิสระ ' ไฉนจึงเป็นเช่น สุภูติเอย ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีจิตยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะแล้วไซร้ บุคคลนั้นหาใช่พระโพธิสัตว์แท้จริงไม่ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ”
“ สุภูติ แท้จริงแล้วไม่มีธรรมารมณ์อิสระใดเรียกได้ว่า จิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ณ เบื้องอดีตกาล เมื่อตถาคตอยู่ในสำนักของพระทีปังกรพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน กระนั้นหรือ ”
“ มิได้ พระเจ้าข้า ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งข้าพระองค์เข้าใจไม่มีสิ่งใดเรียกได้ว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน พระเจ้าข้า ”
สมเด็จพระศาสดาตรัส “ อย่างนั้น อย่างนั้น สุภูติ แท้จริงแล้วมิได้มีสิ่งที่เรียกว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อันตถาคตจะบรรลุได้เพราะเหตุว่าถ้ามีสิ่งนั้นแล้วไซร้ พระทีปังกรพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงพยากรณ์แก่เราว่า ‘ ในอนาคตเบื้องหน้าเธอจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามศากยมุนี ' คำพยากรณ์นี้มีได้ เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีธรรมบรรลุได้อันใดจึงจักเรียกได้ว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า ตถาคตย่อมหมายถึงความเป็นเช่นนั้นของสรรพสิ่ง (ธรรม) บุคคลอาจเข้าใจผิดเมื่อเขากล่าวว่า ตถาคตได้บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อันตถาคตได้บรรลุนั้นใช่สิ่งที่อาจติดตามยึดถือ แต่ก็ใช่สิ่งอันเลื่อนลอยไร้แก่นสาร ด้วยเหตุดังนี้ ตถาคตจึงกล่าวว่า ‘ ธรรมทั้งปวงคือพุทธธรรม ' แท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมิใช่ธรรม ดังนี้ ธรรมทั้งหลายจึงได้ชื่อว่าธรรม
“ ดูก่อน สุภูติ อุปมาดั่งบุคคลผู้มีรูปกายสูงมหึมา ”
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียกว่า รูปกาย สูงมหึมานั้น แท้จริงแล้วมิใช่รูปกายสูงมหึมา ”
“ ดูก่อน สุภูติ โดยประการเดียวกัน ถ้าพระโพธิสัตว์มีมนสิการว่าท่านต้องช่วยสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นเป็นอิสระแล้วไซร้ นั่นหาใช่พระโพธิสัตว์ไม่ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น สุภูติเอย ไม่มีธรรมารมณ์อิสระใดเรียกได้ว่าพระโพธิสัตว์ ด้วยเหตุดังนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมทั้งปวงไม่เป็นตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ อนึ่ง สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์มีมนสิการว่า ‘ เราจักตกแต่งพุทธเกษตรอันสงบงดงาม ' แล้วไซร้ บุคคลนั้นก็ยังมิใช่พระโพธิสัตว์ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าสิ่งซึ่งตถาคตเรียกว่าพุทธเกษตรอันสงบงดงามนั้น แท้จริงแล้วมิใช่พุทธเกษตรอันงดงาม ดังนี้จึงได้ชื่อว่าพุทธเกษตรอันสงบงดงาม ดูก่อน สุภูติ พระโพธิสัตว์องค์ใดเห็นแจ้งความไม่มีตัวตน ไม่มีธรรม ดังนี้แล้วตถาคตย่อมตรัสเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พระโพธิสัตว์แท้จริง ”
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า ตถาคตมีมังสจักขุฤา ”
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้าทรงมีมังสจักขุ พระเจ้าข้า ”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถาม “ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่าตถาคตมีทิพพจักขุฤา ”
สุภูติกราบทูล “ อย่างนั้นพระเจ้าข้า พระตถาคตทรงมีทิพพจักขุ ”
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า ตถาคตมีปัญญาจักขุฤา ”
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตทรงมีปัญญาจักขุ พระเจ้าข้า ”
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า ตถาคตมีธัมมจักขุฤา ”
“ อย่างนั้น พระเจ้าข้า พระตถาคตทรงมีธัมมจักขุ ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสถาม “ ตถาคตมีพุทธจักขุฤา ”
“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตทรงมีพุทธจักขุพระเจ้าข้า ”
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า พระพุทธเจ้าเห็นเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาว่าเป็นเม็ดทรายฤา ไฉน
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่ผู้มีพระภาค พระตถาคตตรัสเรียกว่าเม็ดทราย ”
“ สุภูติ แม้นว่ามีคงคานทีมากเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา แล้วมีพุทธเกษตรให้แก่เม็ดทรายทุกเม็ดในคงคานทีเหล่านี้แล้วไซร้ เธอคิดว่าพุทธเกษตรย่อมมีจำนวนมากมายนักฤาไฉน ”
“ มากมายนักแล้ว พระเจ้าข้า ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัส “ ดูก่อน สุภูติ ไม่ว่าสรรพสัตว์จะมีมากมายเท่าใด เท่าใดในพุทธเกษตรเหล่านั้น ไม่ว่าปวงสัตว์เหล่านั้นจะมีเจตสิกแตกต่างกันอย่างไร ตถาคตย่อมเห็นแจ้งในสัตว์ทั้งปวงนั้น เหตุไฉนจึงเป็นเช่นนี้ สุภูติ เพราะสิ่งที่ตถาคตเรียกเจตสิกที่แตกต่างกัน แท้จริงแล้วมิใช่เจตสิกที่แตกต่างกัน ดังนี้จึงได้ชื่อว่าเจตสิกที่แตกต่างกัน ”
“ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะว่าจิตใจในอดีตเป็นสิ่งไม่อาจติดตามยึดถือ จิตในปัจจุบันและจิตในอนาคตก็ไม่อาจติดตามยึดถือได้เช่นกัน
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ถ้าบุคคลใดบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ บุคคลนั้นจะได้ความปีติปราโมทย์ล้ำเลิศ เป็นผลานิสงส์จากการบำเพ็ญทานนั้นฤาไฉน ”
“ ล้ำเลิศนักแล้ว พระเจ้าข้า ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าความปีติปราโมทย์นี้อาจแยกจากสิ่งอื่น ๆ ได้ ตถาคตจักไม่กล่าวว่านั้นเป็นความ ล้ำเลิศ แต่เพราะเหตุที่ไม่อาจติดตามยึดถือ ตถาคตจึงกล่าวว่า ทานบริจาคอันบุคคลได้กระทำย่อมนำคุณา-นิสงส์ล้ำเลิศมาสู่เขา
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า จักพึงเห็นตถาคตได้ด้วยรูปกายอันสมบูรณ์กระนั้นหรือ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียกว่ารูปกายอันสมบูรณ์นั้น แท้จริงแล้วมิใช่รูปกายอันสมบูรณ์ ดังนี้จึงได้ชื่อว่ารูปกายอันสมบูรณ์ ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ จักพึงเห็นตถาคตได้ด้วยสรรพลักษณะอันสมบูรณ์กระนั้นหรือ ”
“ ยากนักพระเจ้าข้า ยากนักที่ใครจักพึงเห็นพระตถาคตได้ด้วยสรรพลักษณะอันสมบูรณ์นั้น ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียกสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ แท้จริงแล้วมิใช่สรรพ-ลักษณะอันสมบูรณ์ ดังนี้จึงได้ชื่อว่าสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ ”
“ สุภูติ จงอย่ากล่าวว่าตถาคตมีมนสิการว่า ‘ ตถาคตจะแสดงธรรมสั่งสอน ' อย่าคิดอย่างนี้ เพราะเหตุใดฤา ก็เพราะเหตุว่า ถ้าบุคคลกล่าวว่าตถาคตมีสิ่งจะสั่งสอน บุคคลนั้นย่อมกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า เพราะเขาไม่เข้าในสิ่งที่ตถาคตกล่าวเลย สุภูติเอย การสนทนาธรรมนั้นแท้จริงแล้วมิได้มีการสนทนา ดังนี้จึงเป็นการสนทนาธรรมที่แท้จริง ”
ณ กาลนั้น ภิกษุสุภูติผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมกราบทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในอนาคตสมัย ยังจักมีสรรพสัตว์ใดเมื่อได้ฟังพระวจนะนี้แล้ว บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสอยู่ฤาหนอ ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ ดูก่อน สุภูติ สรรพสัตว์ทั้งปวงนั้นใช่มีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตกล่าวว่าไม่มีชีวิต แท้จริงแล้วย่อมมีชีวิตอยู่ ”
.....
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 12:13:45 ]
ความคิดเห็นที่ 3
(ต่อ)
สุภูติ กราบทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาค “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุนั้นเป็นสิ่งไม่อาจบรรลุฤาไฉน ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ อย่างนั้น อย่างนั้น สุภูติ ถ้าว่าถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้ว เรามิได้บรรลุถึงสิ่งใด ดังนี้จึงเรียกว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ”
“ อนึ่ง สุภูติ จิตมีอยู่ทุกแห่งหนเสมอกัน เพราะไม่มีสูง ไม่มีต่ำ จึงเรียกว่าสูงสุด เป็นจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิก-บาน ผลานิสงส์ของจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน จะประจักษ์ก็โดยการปฏิบัติอย่างไม่ยึดมั่นกับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ สุภูติเอย สิ่งที่เรียกการปฏิบัตินั้น แท้จริงแล้วไม่มีการปฏิบัติเลย ดังนี้จึงได้ชื่อว่าการปฏิบัติที่แท้ ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าบุคคลบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะกองสูงเทียมเขาพระสุเมรุ จนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ สุขานิสงส์จากบุญกุศลนี้ก็ยังน้อยกว่าอานิสงส์ อันบุคคลจะได้รับจากการรู้เลื่อมใส ปฏิบัติ และอธิบาย วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร เผยแผ่แก่ผู้อื่น ความปีติปราโมทย์อันบุคคลจักได้รับจากการปฏิบัติพระสูตรนี้ แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท ย่อมไม่อาจพรรณนาด้วยการยกตัวอย่างหรืออ้างตัวเลข ”
“ สุภูติ จงอย่ากล่าวว่า ตถาคตมีมนสิการว่า ‘ เราจักขนปวงสัตว์ข้ามสู่ฝั่งวิมุตติ ' จงอย่าคิดอย่างนั้น สุภูติ เพราะเหตุใดฤา ก็เพราะเหตุว่า แท้จริงแล้วไม่มีสัตว์ใดให้ตถาคตขนข้ามสู่ฝั่งโน้น ถ้าตถาคตมีมนสิการว่าสัตว์เหล่านั้นมีแล้วไซร้ จิตของเราย่อมติดข้องอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ
“ สุภูติเอย สิ่งที่ตถาคตเรียกตัวตน แท้จริงแล้วมิได้มีตัวตน อย่างที่ปุถุชนคิดกัน สุภูติ ตถาคตไม่สำคัญมั่นหมายบุคคลใดว่าเป็นปุถุชน ดังนี้จึงเรียกเขาได้ว่าปุถุชน ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ บุคคลจักพึงภาวนาถึงตถาคตได้ด้วยลักษณะ 32 ประการ กระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ อย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุคคลจักพึงภาวนาถึงตถาคตได้ด้วยลักษณะ 32 ประการ ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัส “ ถ้าบอกกล่าวว่า เธออาจเห็นตถาคตได้ในลักษณะ 32 ประการ ดังนี้แล้วจักรพรรดิก็คือตถาคตด้วยเช่นกัน กระนั้นฤา ”
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงบุคคลไม่ควรภาวนาถึงตถาคตด้วยลักษณะ 32 ประการ พระเจ้าข้า ”
ในกาลนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเป็นคาถาว่า
“ บุคคลใดตามยึดตถาคตด้วยรูป
หรือด้วยเสียง
ย่อมผิดมรรควิธี
ฉะนี้เขาจะไม่เห็นตถาคตได้เลย ”
“ อนึ่ง สุภูติ ถ้าเธอคิดว่าตถาคตบรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน แล้วไม่จำต้องมีลักษณะใด ๆ อย่างนี้เรียกว่าคิดผิด สุภูติ จงอย่าคิดอย่างนี้ อย่าคิดว่าเมื่อบุรุษใดบรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน แล้วต้องพิจารณาว่าธรรมารมณ์ทุกชนิดเป็นสิ่งไม่มีอยู่ ขาดไปแล้วจากชีวิต จงอย่าคิดอย่างนั้น บุรุษผู้ลุถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ย่อมไม่โต้แย้งว่าธรรมารมณ์เป็นสิ่งไม่มีอยู่ ขาดไปแล้วจากชีวิต ”
“ สุภูติ แม้นว่าพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจำนวนมากเท่าเม็ดทรายในแม่น้ำ คงคา จนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ สุขานิสงส์จากการบำเพ็ญบุญกุศลนี้ ก็ยังน้อยกว่าอานิสงส์อันบุคคลจักพึงได้รับเมื่อเขาแจ่มแจ้งเข้าใจ และเลื่อมใส ความจริงที่ว่าธรรมนั้นไม่มีตัวตน และเขายังมีชีวิตอยู่ด้วยสัทธรรมนี้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่าพระโพธิสัตว์ไม่จำต้องสั่งสมกุศลมูลและความปีติปราโมทย์ใด ๆ เลย ”
สุภูติทูลถามพระผู้มีพระภาค “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์หมายความว่าอย่างไรพระเจ้าข้า เมื่อทรงรับสั่งว่าพระโพธิสัตว์ไม่จำต้องสั่งสมกุศลมูลและความปีติปราโมทย์ใด ๆ ”
“ สุภูติ พระโพธิสัตว์ย่อมปลูกฝังสั่งสมกุศลมูลและความปีติปราโมทย์ แต่จิตท่านไม่ติดข้องอยู่กับกุศลมูลและความปีติปราโมทย์นั้น ด้วยเหตุดัง ตถาคตจึงกล่าวว่าพระโพธิสัตว์ไม่จำต้องสั่งสมกุศลมูลและความปีติปราโมทย์ใด ๆ ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าบุคคลกล่าวว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงพระดำเนินมา ทรงพระดำเนินไป ประทับนั่ง และทรงไสยาสน์ บุคคลนั้นย่อมไม่เข้าใจสิ่งที่ตถาคตกล่าว ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะตถาคตหมายความว่า ‘ ไม่มาจากไหนและไม่ไปที่ไหน ' ดังนี้แลจึงเรียกว่าตถาคต ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาจักสลายสามล้านอสงไขยโลกธาตุให้เป็นปรมาณุภาค เธอคิดว่าปรมาณุภาคนั้นย่อมจักมากมายนักกระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ มากมายนัก พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า ถ้าปรมาณุภาคมีอยู่จริง พระตถาคตจักไม่ตรัสเรียกว่าปรมาณุภาค สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียกปรมาณุภาคแท้จริงแล้วมิใช่ปรมาณุภาค ดังนี้จึงอาจเรียกได้ว่าปรมาณุภาค ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สิ่งที่ตถาคตตรัสเรียกโลกธาตุ แท้จริงแล้วมิใช่โลกธาตุ ดังนี้จึงเรียกได้ว่าโลกธาตุ เพราะเหตุใดฤา ก็เพราะเหตุว่าถ้าโลกธาตุมีอยู่จริง ก็ย่อมประกอบด้วยปรมาณุภาคซึ่งปรุงแต่งรวมกันอยู่ตามเหตุปัจจัย สิ่งที่พระตถาคตเรียกปรุงแต่งรวมกันอยู่แท้จริงแล้วมิได้ปรุงแต่งรวมกันอยู่เลย ดังนี้จึงได้ชื่อว่าปรุงแต่งรวมกันอยู่ ”
“ สุภูติ ที่เรียกว่าปรุงแต่งรวมกันอยู่เป็นเพียงวิธีพูดอย่างปรัมปรา มิได้มีอยู่จริงเลย มีแต่ปุถุชนเท่านั้นที่หลงยึดอยู่กับถ้อยคำปรัมปรานี้ ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าบุคคลกล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึง อาตมทิฏฐิ ปุคคลทิฏฐิ และชีวะทิฏฐิแล้วไซร้ บุคคลนั้นเข้าใจสิ่งที่ตถาคตกล่าวแสดงหรือไม่หนอ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า บุคคลเช่นนั้นไม่เข้าใจพระตถาคต ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียก อาตมทิฏฐิ ปุคคลทิฏฐิ สัตวทิฏฐิ และชีวะทิฏฐิ แท้จริงแล้วมิใช่อาตมทิฏฐิ ปุคคลทิฏฐิ สัตวทิฏฐิ และชีวะทิฏฐิ ดังนี้จึงได้ชื่อว่า อาตมทิฏฐิ ปุคคลทิฏฐิ สัตวทิฏฐิ และชีวะทิฏฐิ ”
“ อนึ่ง สุภูติ บุคคลผู้บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน พึงรู้ว่านี่คือลักษณะแท้จริงของธรรมทั้งปวง เขาพึงเห็นว่าธรรมทั้งปวงเป็นเช่นนี้พึงเลื่อมใสต่อการเห็นธรรมทั้งปวงอย่างไม่สำคัญมั่นหมายในธรรม สุภูติเอย สิ่งที่ตถาคตเรียกความสำคัญมั่นหมายในธรรม แท้จริงแล้วมิใช่ความสำคัญมั่นหมายในธรรม ดังนี้จึงได้ชื่อว่าความสำคัญมั่นหมายในธรรม ”
....
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 12:15:44 ]
ความคิดเห็นที่ 4
(ต่อ)
“ ดูก่อน สุภูติ หากบุคคลบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจำนวนมหาศาลเกินคณนาจนเปี่ยมล้นทั่วสรรพโลกอันมีห้วงอากาศไม่สิ้นสุด สุขานิสงส์จากการบำเพ็ญบุญกุศลนี้ ไม่อาจเทียบได้กับความปีติปราโมทย์อันเป็นผลานิสงส์เมื่อกุลบุตรกุลธิดาได้บรรลุถึงจิตอันตื่น ได้อ่านสาธยายเลื่อมใส ปฏิบัติพระสูตรนี้ และอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่น แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท อนึ่งจักพึงตั้งจิตอย่างไรในการเผยแผ่แสดงเล่า จงอย่ายึดมั่นผูกพันอยู่กับสัญญา อธิบายทุกสิ่งตามสภาวะแท้จริงโดยไม่หวั่นไหว ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า ”
สรรพสิ่งปรุงแต่งดุจความฝัน
ดุจพรายน้ำ ดุจสายฟ้า ดุจภูตหลอน
จงดูให้เห็นสิ่งเหล่านั้น
ด้วยการเพ่งภาวนา
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงพระสูตรจนจบลง พระสุภูติมหาเถระ บรรดาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดาและมาร ซึ่งประชุมสดับพระธรรมเทศนาพร้อมอยู่ ณ ที่นั้น ต่างปลาบ-ปลื้มยินดี บังเกิดความเลื่อมใส รับพระสัทธรรมไปปฏิบัติด้วยประการฉะนี้แล
บทส่งท้าย Top
ผมเชื่อมั่นว่า พวกท่านทุกคนที่ได้อ่านงานชุดนี้
ที่ผมได้พิมพ์เผยแพร่นั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเด็ดขาด
ไม่มีความบังเอิญในเรื่องนี้
เพียงแต่พวกเรายังไม่รู้ความหมายแฝงเร้นของเรื่องราวทั้งหมด
ที่ปรากฏอยู่ใน “ ละครโลกใบนี้ ”
ขอให้ความศรัทธาของผมที่มีต่อวิถีของพระพุทธะ และพระโพธิสัตว์
ได้ไหลผ่านซึมสิงเข้าไปสู่หัวใจของพวกท่าน
วิถีแห่งพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ ต้อนรับการเดินทางของสรรพสัตว์อยู่เสมอ
เพราะเหล่าพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ รอคอยการเดินทาง-ทางจิตวิญญาณของพวกท่าน
อยู่ ณ แดนสงบ แห่งสุญญตา
ด้วยอานุภาพของพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ
ขอให้โพธิจิตจงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย ด้วยเทอญ
ขออุทิศส่วนกุศลแด่
บิดา มารดาทั้งหลาย คุรุอาจารย์ทั้งหลาย ผู้มีพระคุณทั้งหลาย
และเจ้ากรรมทั้งหลาย สรรพชีวิต สรรพวิญญาณ
ขอท่านทั้งหลาย จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด
ด้วยอานิสงส์นี้ขอให้คำว่า
ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้ ไม่สบาย
จงอย่าบังเกิดแก่ข้าพเจ้า นับแต่บัดนี้ไปจนกว่าข้าพเจ้า
จะบรรลุโพธิญาณ
โอม มณี ปัท เม ฮุม
“ โอม ” คำ ๆ นี้ คือคำศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งกายของพุทธะทั้งปวง
“ โอม ” คำ ๆ นี้ มีพลังศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยชำระล้างความสกปรกในจิตใจเรา จนสะอาดบริสุทธิ์ถึงระดับเทพยดาได้
“ โอม ” คือเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถแม้แต่จะขจัดความเป็นเทพในตัวของเราให้หมดสิ้นไป เพื่อก้าวเข้าสู่การหลุดพ้นที่แท้จริงของจิตเราได้
“ โอม ” คือเสียงแรกสุดของสัจธรรมที่ไร้ซึ่งกาลเวลา คือเสียงแห่งการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นอยู่คู่กับตัวเรามาตั้งแต่อดีตกาลที่ไร้กาลเริ่มต้น ก้องกังวานอยู่ภายในตัวเราทั้งตัว
“ โอม ” คือเสียงล้ำลึกที่ไร้สิ่งกั้นขวาง เสียงอันเกิดโดยกฎแห่งกำเนิดของสรรพสิ่ง คือคลื่นแห่งการสั่นสะเทือนของมวลสรรพสิ่ง ที่เคลื่อนไหวตามกฎการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระสมบูรณ์ของ เอกภพ
“ มณี ” คือเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถขจัดความเป็นอสูร หรือความอิจฉาริษยา และความเป็นสัตว์โลก เช่น มนุษย์ปุถุชนให้หมดสิ้นไปจากใจของเราได้
“ ปัท ” คือเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถขจัดความเป็นเดรัจฉานให้หมดสิ้นไปจากใจของเราได้
“ เม ” คือเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถขจัดความเป็นเปรตให้หมดสิ้นไปจากใจของเราได้
“ ฮุม ” คือเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถขจัดความเป็นสัตว์นรกอเวจีให้หมดสิ้นไปจากใจเราได้
____________________________________________________
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 12:16:48 ]
ความคิดเห็นที่ 5
ขอบคุณ http://www.visutti.com/article07.htm และขออนุญาตนำมาเผยแพร่ด้วยขอรับ
ขอบคุณยิ่ง
Chuck
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 12:19:07 ]
ความคิดเห็นที่ 7
แต่เป็นพระสูตรหลักพระสูตรหนึ่งของมหายานครับ
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 12:54:14 ]
ความคิดเห็นที่ 9
จะกลับมาคุยต่อตอนเย็นนะครับ
:)
Chuck
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 13:05:49 ]
ความคิดเห็นที่ 10
...
ท่านฮุ่ยเหนิงประกอบอาชีพตัดฟืนไปขายเพื่อเลี้ยงดูมารดา
วันหนึ่งขณะที่นำฟืนไปส่งให้แก่เจ้าจำนำรายหนึ่งในตลาด
พลันก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ของชายคนหนึ่งอยู่ที่หน้าร้าน ซึ่งท่านฮุ่ยเหนิงเอาฟืนไปส่งนั่นเอง
ชายคนนั้นสาธยายมนต์มาถึงถ้อยคำที่ว่า
"พึงทำจิตมิให้มีความยึดถือผูกพันในทุกสภาวะ"
เมื่อได้ยินถ้อยคำเช่นนี้จิตใจของท่านฮุ่ยเหนิงก็สว่างโพลงในพุทธธรรม จึงถามชายคนนั้นว่า
"ท่านกำลังสวดอะไร"
"เรากำลังสวดวัชรสูตร"
....
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 18:16:15 ]
ความคิดเห็นที่ 11
....
[๒๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอุปสีวะ)
บุคคลผู้ดับไปแล้วย่อมไม่มีประมาณ. ชนทั้งหลายพึงว่าบุคคล
นั้นด้วยกิเลสใด กิเลสนั้นก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น. เมื่อธรรม
ทั้งปวงอันบุคคลนั้นถอนเสียแล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งปวง
บุคคลนั้นก็ถอนเสียแล้ว.
....
อุปสีวมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๖.
-----------------------------------------------------
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๒๓๘๙ - ๒๗๐๒. หน้าที่ ๙๗ - ๑๐๙.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=2389&Z=2702&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=242
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 18:33:06 ]
ความคิดเห็นที่ 12
...
ในกาลครั้งนั้น ภิกษุสุภูติได้กราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานอนุญาต กราบทูลถามอีกครั้ง ว่าถ้ากุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะตรัสรู้ธรรมบรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาและเธอควรตั้งจิตและควบคุมจิตของตนอย่างไรพระเจ้าข้า ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ ดูก่อน สุภูติ กุลบุตรกุลธิดาผู้ปรารถนาจะตรัสรู้ธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน พึงตั้งจิตดังนี้ ‘ เราจักนำสรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งแห่งความตื่น และเมื่อปวงสัตว์เหล่านั้นได้วิมุตติ หลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว เราจักไม่คิดเลยว่าสัตว์ใดได้วิมุตติหลุดพ้นเป็นอิสระ ' ไฉนจึงเป็นเช่น สุภูติเอย ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีจิตยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะแล้วไซร้ บุคคลนั้นหาใช่พระโพธิสัตว์แท้จริงไม่ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ”
“ สุภูติ แท้จริงแล้วไม่มีธรรมารมณ์อิสระใดเรียกได้ว่า จิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ณ เบื้องอดีตกาล เมื่อตถาคตอยู่ในสำนักของพระทีปังกรพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน กระนั้นหรือ ”
“ มิได้ พระเจ้าข้า ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งข้าพระองค์เข้าใจไม่มีสิ่งใดเรียกได้ว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน พระเจ้าข้า ”
สมเด็จพระศาสดาตรัส “ อย่างนั้น อย่างนั้น สุภูติ แท้จริงแล้วมิได้มีสิ่งที่เรียกว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อันตถาคตจะบรรลุได้เพราะเหตุว่าถ้ามีสิ่งนั้นแล้วไซร้ พระทีปังกรพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงพยากรณ์แก่เราว่า ‘ ในอนาคตเบื้องหน้าเธอจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามศากยมุนี ' คำพยากรณ์นี้มีได้ เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีธรรมบรรลุได้อันใดจึงจักเรียกได้ว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า ตถาคตย่อมหมายถึงความเป็นเช่นนั้นของสรรพสิ่ง (ธรรม) บุคคลอาจเข้าใจผิดเมื่อเขากล่าวว่า ตถาคตได้บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อันตถาคตได้บรรลุนั้นใช่สิ่งที่อาจติดตามยึดถือ แต่ก็ใช่สิ่งอันเลื่อนลอยไร้แก่นสาร ด้วยเหตุดังนี้ ตถาคตจึงกล่าวว่า ‘ ธรรมทั้งปวงคือพุทธธรรม ' แท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมิใช่ธรรม ดังนี้ ธรรมทั้งหลายจึงได้ชื่อว่าธรรม
...
แก้ไขเมื่อ 27 พ.ค. 51 19:53:52
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 27 พ.ค. 51 19:53:24 ]
ความคิดเห็นที่ 13
จาก ค.ห.๘
"น่าตกใจ ที่หลายคนเชื่อถือพระสูตรฝ่ายมหายาน ทำให้การปฏิบัติผิดไป"
แล้วคุณ SpiritWithin_HolyStream ผู้ยึดมั่นถือมั่นในพระสูตรฝ่ายเถรวาทอย่างยิ่ง เพราะเหตุใดในกระทู้หนึ่งที่คุณเองนำพระสูตรเถรวาทมาเสนอ แล้วถูกแย้งจนคุณเองเถียงไม่ออก คุณจึงลบกระทู้ดังกล่าวนั่นไปเสียล่ะคะ
ถ้าคุณถามว่า เป็นกระทู้ใด (เพราะคุณอาจนำพระสูตรและอรรถกถาต่างๆ ตั้งเป็นกระทู้บ่อยครั้งจนจำไม่ได้)
ตอบว่า เป็นกระทู้ที่คุณนำอรรถกถาเกี่ยวกับอุบาสกผู้ยึดมั่นในพระรัตนตรัยขณะที่ภรรยาคบชู้ และคุณนำรูปของคุณเองมาโพสต์ไว้นั่นแหละค่ะ
การปฏิบัติเช่นนั้น ขึ้นชื่อว่า ถูกต้อง งดงามกว่าการปฏิบัติตามพระสูตรฝ่ายมหายานที่คุณรังเกียจเหรอคะ
จากคุณ : หนอนดาวเรือง - [ 28 พ.ค. 51 01:31:44 ]
ความคิดเห็นที่ 14
" แล้วคุณ SpiritWithin_HolyStream ผู้ยึดมั่นถือมั่นในพระสูตรฝ่ายเถรวาทอย่างยิ่ง เพราะเหตุใดในกระทู้หนึ่งที่คุณเองนำพระสูตรเถรวาทมาเสนอ แล้วถูกแย้งจนคุณเองเถียงไม่ออก "
ไม่ใช่หรอกนะ
ที่เราลบเป็นเพราะว่า คุณหนอนดาวเรืองทำให้เรื่องวุ่นวาย
อุบาสกคนนั้นจะเป็นอย่างไร มีนิสัยอย่างไร ทำไมเราต้องไปว่าเขา
ในชาดกนั้น ท่านก็เล่าแล้ว ว่าภรรยาเป็นคนทุศีล
อุบาสกนั้น เป็นคนมีศีล แน่นอน ว่าเขาต้องทำอย่างที่คนมีศีลทำ แต่ภรรยากลับทำตัวย่ำแย่
จนในที่สุด ตอนท้ายของชาดกเรื่องนั้น ภรรยานั้น ก็กลับตัว เพราะรู้ตัวแล้ว ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ไส้ของเธอ เธอจึงเลิกพฤติกรรมนั้น
หากพระพุทธเจ้าไม่ทรงเทศอย่างนั้น เธอก็คงจะได้ใจต่อไป
ฝ่ายเราเอง เรางงว่า เพราะอะไรต้องตั้งแง่กับอุบาสกท่านนั้น
ท่านเป็นพระโสดาบันไปแล้วหลังจากได้ฟังชาดกนั้น แต่เรากลับไม่มองตัวเอง นั่งจับผิดเพศตรงข้าม ใช้แต่ความถือในเพศของตัวเองโดยไม่ฟังเหตุผล
เราเองเห็นว่า ข้อความในชาดกดังกล่าว ผ่านมาสองพันปีแล้ว อุบาสก และหญิงคนนั้น รวมไปถึงพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอยู่แล้ว
เราจะสืบสาวเอาความกับอุบาสกคนนั้นให้ได้อะไรขึ้นมา
หยกเองไม่เห็นสาระในการตอบ จึงได้ลบไปเพื่อตัดรำคาญ
ถ้าจะตอบก็ตอบได้ แต่ไม่เห็นความจำเป็นกับคนที่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็น
"หญิง"
หรือ
"ชาย"
มันไม่มีตัวตนทั้งสองเพศ คิดทำไม
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 02:12:15 ]
ความคิดเห็นที่ 16
ความคิดเห็นที่ 8
น่าตกใจ ที่หลายคนเชื่อถือพระสูตรฝ่ายมหายาน ทำให้การปฏิบัติผิดไป
มหายานนั้น จะเน้นที่เรื่องของพระโพธิสัตว์มาก แต่ไม่ได้เน้นในส่วนของปัญญาสิกขา การพิจารณารูปนาม แต่อย่างใด
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 27 พ.ค. 51 13:02:19 ]
__________________________________________________
^
^
ความเห็นของคุณSpiritWithin_HolyStream
ทำให้ผมรู้สึกแปร่งๆ อย่างไรพิกล
ผมขอให้คุณชี้แจงนะครับ ว่า...
พระสูตรข้างต้นไม่ใช่การพิจารณารูปนามตรงไหนครับ?
ไม่ใช้ปัญญาสิกขาตรงไหนครับ?
โปรดชี้แจง
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 11:33:40 ]
ความคิดเห็นที่ 17
การตีขลุมว่า พระสูตรของมหายาน
ไม่ใช่เป็นพระพุทธวจนะ คุณเอาความคิดนี้มาจากไหนครับ?
คุณหมายทุกพระสูตรเลยหรือครับ
พระไตรปิฎกฉบับจีนก็มี ฉบับญี่ปุ่นก็มี
ผมชอบโลหิตสูตร ยกมาคงเป็นเรื่องกว่านี้
ตอบคำถามด้วยนะครับ
Chuck
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 11:47:47 ]
ความคิดเห็นที่ 18
วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร
เป็นสูตรที่คนทุกนิกายต้องอ่านมาก ๆ
"ความสมควร" ไม่ได้อยู่ที่เถรวาท หรือมหายาน
ผู้ที่ค้นหาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้
ก็ควรตัดปัญหาที่เกิดภายหลัง(เรื่องนิกาย)ออกเสียได้
อนุโมทนากับเจ้าของกระทู้ครับ
จากคุณ : Johnny B Good - [ 28 พ.ค. 51 11:57:46 ]
ความคิดเห็นที่ 20
ภิกษุไม่ควรยกพระพุทธศาสนาขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต หากรูปใดขึ้น ต้องอาบัติทุกกฎ
ผมขอหลักฐานว่าต้นฉบับเป็นภาษาสันสกฤตครับ
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 12:53:17 ]
ความคิดเห็นที่ 21
พระสูตรที่ผมยกมาในกระทู้นี้ เป็นภาษาอะไรครับ ?
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 12:57:10 ]
ความคิดเห็นที่ 22
...
How did Buddhism get to China?
It’s assumed that Buddhism spread along the network of trade routes between northern India and China, usually known as the Silk Road. China’s earliest Buddhists were probably foreigners from Central Asia, but rules for translating sacred texts from Sanskrit to Chinese were already in place by the first century AD.
Most Chinese Buddhists followed the Mahayana tradition, which diverged from earlier Theravada Buddhism. Theravadan emphasis on monastic life and many hours of meditation made it a difficult path for the craftspeople and merchants of the Silk Road. Mahayan Buddhism interpreted the teachings of the Buddha in a wider way that could carry more people along the road to enlightenment, hence the name Mahayana, literally meaning ‘the greater ox-cart’.
How did the Diamond Sutra get its name?
The sutra answers that question for itself. Towards the end of the sermon, Subhuti asks the Buddha how the sutra should be known. He is told to call it ‘The Diamond of Transcendent Wisdom’ because its teaching will cut like a diamond blade through worldly illusion to illuminate what is real and everlasting.
The original Sanskrit title is ‘Vajracchedika-prajnaparamita-sutra’. Around 400 AD, the sutra was translated into Chinese, by an Indian scholar-monk called Kumarajiva, who named it ‘Jin gang ban ruo luo mi jing’.
Jewel imagery features strongly in Buddhism. At the centre of the faith are the three jewels, or triple-jewel: the Buddha, his teaching (the ‘Dharma’), and the spiritual community (the ’Sangha’). A popular Buddhist parable tells the story of a poor man who travels through life unaware of the precious jewel that has been sewn into the hem of his coat by a well-meaning friend.
...
http://www.bl.uk/onlinegallery/sacredtexts/diamondsutra.html
________________________________________________
Diamond Sutra. Cave 17, Dunhuang, ink on paper
British Library Or.8210/P.2
Copyright © The British Library Board
v
v
แก้ไขเมื่อ 28 พ.ค. 51 17:38:10
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 17:35:56 ]
ความคิดเห็นที่ 23
เป็นปัญญาโดยตรง ตอบตนเองได้ เป้าหมายชัดเจน เห็นด้วยกับท่านJohnny B Good ความคิดเห็นที่18ครับ สิ่งที่กล่าวถึงคือความจริงไม่ใช่สนิม ถ้ารู้แล้วก็ต้องรู้สิ่งเดียวกัน ไม่มีสูงมีต่ำกว่ากัน หลอกตนเองไม่ได้ ท่านKoknam ท่านJit ท่านนมสิการ และอีกหลายหลายท่านก็รู้ครับ ผมจึงสงสัยมากว่าทางฝ่ายเถรวาทของเรา บางท่านรู้ลึก แต่พอถามถึงว่าต้องรู้ลึกขนาดไหนจึงจะบรรลุธรรม คำตอบคือ แบะแบะครับ ซึ่งต่างจากท่านโพธิธรรม ท่านเว่ยหล่าง ท่านหลวงปู่ดูลย์ ท่านหลวงพ่อเทียน ซึ่งกล้าตอบและรู้ว่ายังเหลืออีกกี่ส่วน เป้าหมายมี มนุษย์ธรรมดาถึงได้ จบได้
จากคุณ : ศิษย์ปู่หมอ - [ 28 พ.ค. 51 17:44:05 ]
ความคิดเห็นที่ 24
คุณSpiritWithin_HolyStream เชื่อว่า
คำสอนนี้ ไม่ใช่การสังคายนาของพระอรหันต์มีพระอานนท์เป็นต้น ในครั้งพุทธกาล ไม่ใช่พระพุทธดำรัส
v
v
_____________________________________________________
"ถึงแม้ ท่านทั้งหลายจะเกิดความปลาบปลื้มในพระสูตรนี้ แต่ความปลาบปลื้มนั้นก็ไม่ได้ยังผู้อ่านให้ถึงพระญาณของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสพระสูตรนี้
ซึ่งได้ทรงประกาศเป็นอาบัติว่า ภิกษุไม่ควรยกพระพุทธศาสนาขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต หากรูปใดขึ้น ต้องอาบัติทุกกฎ"
...
SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 12:48:07 ]
__________________________________________________
^
^
เนื่องจากต้นฉบับเดิมเป็นภาษาสันสกฤต และไม่ปรากฎในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทเรา จึงไม่ใช่พระพุทธดำรัส ใครเชื่อก็ปฏิบัติผิดทาง เหมือนสนิมที่กัดกินเหล็ก ย่อมเกิดจากเนื้อในเหล็ก อย่างนี้กระมัง?
จากคุณ : จิตเซน หรือมหายาน (JitZungkabuai) - [ 28 พ.ค. 51 17:51:28 ]
ความคิดเห็นที่ 25
ใครรู้แต่ภาษาสันสกฤตภาษาเดียว ต้องแย่แน่
เพราะอะไรเล่า!!!???
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 17:57:35 ]
ความคิดเห็นที่ 26
ประเด็น.....สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ สาธุ สุภูติ ที่เธอกล่าวนั้นเป็นความจริงทีเดียวตถาคตได้ติดตาม สั่งสอน ชี้ทาง และวางใจในปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ จงตั้งใจฟังเราจักแสดงแก่เธอ หากกุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะตรัสรู้ธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาควรตั้งจิตและโน้มนำจิตของตนอย่างนี้ ”
************************************************
(๑) คำว่า .... "ปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ " ....
เทียบกับ
(๒) คคห 17.. ...การตีขลุมว่า พระสูตรของมหายาน
ไม่ใช่เป็นพระพุทธวจนะ คุณเอาความคิดนี้มาจากไหนครับ?
มีคำถาม ที่สมควรจะถาม
คำถามมีดังนี้
และเนื่องกับ "วัชระเฉทิกปรัชญา ปารมิตาสูตร "
โดยเฉพาะคำว่า "ปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ"
ไม่ทราบว่า "ตรงกับ พระพุทธวจนะฝ่าย เถรวาท พระสูตรไหน ที่ตรัสคำว่า ..... " สาธุ สุภูติ ที่เธอกล่าวนั้นเป็นความจริงทีเดียวตถาคตได้ติดตาม สั่งสอน ชี้ทาง และวางใจในปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ " ....
หมายเหตุ
คำถามนี้ เกี่ยวกับ ตามหลักฐาน ชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ฯลฯ ....เท่านั้น
ไม่เกี่ยวกับ "นิกาย" ไม่เกี่ยวกับ "ความเชื่อ" ไม่เกี่ยวกับ คำว่า "ต่างก็มี พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เช่นเดียวกัน" และไม่เกี่ยวกับ พระสูตรของมหายาน
ไม่ใช่เป็นพระพุทธวจนะ
**********************************************
ประเด็น (คคห 1)...
“ อนึ่ง เรายังตามระลึกถึงกาลที่ล่วงมาแล้วห้าร้อยชาติ เมื่อเราบำเพ็ญขันติบารมีโดยจิตไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ดังนี้แล สุภูติ เมื่อพระโพธิสัตว์บรรลุถึงพุทธจิต รู้ตื่นเป็นนิจอย่างไม่มีใครเสมอเหมือนนั้น ท่านต้องละทิ้งความคิดทั้งปวง เมื่อจิตถึงขั้นนี้แล้ว ท่านย่อมไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย ”
คำว่า ชาติ คำนี้ (ตาม คคห 1)
...ไม่ทราบว่า จะทำให้ ปุถุชนผู้มิได้สดับ ที่ยังเป็น สัสสตทิฏฐิ "เข้าใจ ข้อความเหล่านั้น ตรงกับ สัสสตทิฏฐิ หรือไม่?
ที่สำคัญ ถ้าคำว่า ชาติ ...หาก อ้างว่า เป็นไปตาม กรรม ฯลฯ
ก็ ขอให้ พิจารณา พระพุทธวจนะ "ที่รักษาสืบไว้ใน บาลีไตรปิฎก"
ดังนี้
..กรรมนั้น อันบุคคลนั้น พึงเสวยผลในอัตตภาพนี้นั่นเทียว
วัตถุ (คือพื้นที่ ที่กรรมนั้นจะให้ผล) อื่น หามีไม่
เพราะฉะนั้นภิกษุ ผู้รู้ประจักษ์ซึ่งโลภะ โทสะ และโมหะ กระทำวิชชาให้เกิดขึ้นอยู่ ย่อมละทุคติทั้งหลายทั้งปวงได้
เมื่อพิจารณา พระพุทธวจนะ ฉบับบาลี แล้ว
ก็เทียบกับ ฉบับ สันสกฤติ ....คคห 1
“ ดูก่อน สุภูติ ตถาคตกล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่าขันติบารมีนั้นแท้จริงแล้วมิใช่ขันติบารมี ดังนี้ จึงได้ชื่อว่าขันติบารมี ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลเมื่อหลายพันชาติก่อน เมื่อพระเจ้ากลิราชา สั่งให้บั่นร่างกายเราเป็นท่อน ๆ นั้น จิตเรามิได้ยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะเลย ถ้าเมื่อครั้งกระนั้นเรายึดมั่นอยู่กับความคิดเหล่านี้ เราย่อมโกรธอาฆาตราชาพระองค์นั้นเป็นแน่แท้
“ อนึ่ง เรายังตามระลึกถึงกาลที่ล่วงมาแล้วห้าร้อยชาติ เมื่อ...
ตกลง ..ถ้า ....จะอ้าง กรรมในชาตินี้ จะให้ผล ในชาติต่อๆ ไปหลังจากตายแล้ว
ต้อง สอบทานกับ พระพุทธวจนะ ฉบับบาลี (พระสูตรที่ ๔ เทวทูตวรรค ติก อํ ๒๐/๑๗๑/๔๗๓)
***********************************************
เรื่องการ ระลึกชาติในอดีต
พระพุทธวจนะฝ่ายฉบับบาลี มีหลายพระสูตร
โดยเฉพาะพระสูตรนี้
....ขนฺธ สํ ๑๗/๑๐๕-๑๑๐/๑๕๘-๑๖๔
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด (ใครว่าไม่รวมถึงภิกษุสุภูติด้วย)
เมื่อตามระลึก
ย่อมตามระลึกถึง ปุพเพนิวาส อย่างเป้นเอนก
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด (ใครว่าไม่รวมถึงภิกษุสุภูติด้วย)
ย่อมตามระลึกถึง ซึ่ง อุปาทานขันธ์ทั้งห้า
หรือ ขันธ์ใดขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง แห่งอุปาทานทั้งห้านั้น
ห้าอย่างไรกันเล่า ....
ฯลฯ
.......เรื่องอุปาทานขันธ์ หรือ ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน........
พระสูตร ที่ตรัสเนื่องกับ "มูลฐาน แห่งการบัญญัติ เบญจขันธ์ (แต่ละขันธ์)"
- อุปริ ม ๑๔/๑๐๒/๑๒๔
ภิกษุ มหาภูต(ธาตุ)สี่ อย่าง เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ รูปขันธ์
ภิกษุ ผัสสะ (การประจวบพร้อมแห่งอายตนะภายใน และภายนอก และ วิญญาณที่อายตนะนั้น) เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ เวทนาขันธ์
ภิกษุ ผัสสะ (การประจวบพร้อมแห่งอายตนะภายใน และภายนอก และ วิญญาณที่อายตนะนั้น) เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ สัญญาขันธ์
ภิกษุ ผัสสะ (การประจวบพร้อมแห่งอายตนะภายใน และภายนอก และ วิญญาณที่อายตนะนั้น) เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ สังขารขันธ์
ภิกษุ นามรูป แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ วิญญาณขันธ์
...พระผู้มีพระภาคตรัส “ อนึ่ง ถ้าบุคคลใดยอมรับคำสอนนี้แล้วนำไปปฏิบัติแม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท และยังอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วย ....
อย่าลืม พระพุทธองค์ ตรัสธรรมะขัดกันไม่ได้..
แต่ อื่นจากพระพุทธองค์ ละ ?????..อย่าประมาท
จากคุณ : เซนเถรวาทปฐมสังคายนานิยม (F=9b) - [ 28 พ.ค. 51 18:15:09 ]
ความคิดเห็นที่ 27
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าบุคคลกล่าวว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงพระดำเนินมา ทรงพระดำเนินไป ประทับนั่ง และทรงไสยาสน์ บุคคลนั้นย่อมไม่เข้าใจสิ่งที่ตถาคตกล่าว ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะตถาคตหมายความว่า ‘ ไม่มาจากไหนและไม่ไปที่ไหน ' ดังนี้แลจึงเรียกว่าตถาคต ”
...
______________________________________________________
ขอบพระคุณท่านF ขอรับ
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 18:34:09 ]
ความคิดเห็นที่ 28
พระโพธิสัตว์คืออะไร ใช่กุศลกรรมบท หรือไม่ ท่านพิจารณาเอาเอง
มารคืออะไร ใช่อกุศลกรรมบท หรือไม่ ท่านพิจารณาเอาเอง
พระพุทธเจ้าคืออะไร ท่านพิจารณาเอาเอง
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 18:50:02 ]
ความคิดเห็นที่ 29
จริงครับ ว่าเต็มไปด้วยปุคคลาทิษฐาน ในพระสูตรมหายาน
แต่อย่าประมาทนะขอรับทุกท่าน
ในพระไตรปิฎกฉบับบาลีเถรวาท ก็มีปรากฎเรื่องปุคคลาฯ นี้ด้วย
แล้ว Diamond Sutra เกี่ยวกับอะไรครับ?
เกี่ยวกับการทำลายมายาของนามและรูป และความเกี่ยวเนื่องกัน
สรุปลงที่สูญญตา เราจะเรียกความรู้นี้ว่า นามรูปปริเฉทญาณได้หรือไม่ครับ
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 19:02:39 ]
ความคิดเห็นที่ 30
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
สุญญสูตร
[๑๐๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ฯลฯ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโลกว่างเปล่าๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เพราะว่างเปล่า
จากตนหรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า อะไรเล่าว่างเปล่า
จากตนหรือจากของๆ ตน จักษุแลว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน รูป
ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน จักษุวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ
ตน จักษุสัมผัสว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตน
หรือจากของๆ ตน ฯลฯ ใจว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ธรรมารมณ์
ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน มโนวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน
มโนสัมผัสว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ
อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างเปล่าจากตนหรือจาก
ของๆ ตน
ดูกรอานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า
โลกว่างเปล่า ฯ
จบสูตรที่ ๒
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๑๒๘๒ - ๑๒๙๗. หน้าที่ ๕๖ - ๕๗.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=1282&Z=1297&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=102
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 19:04:25 ]
ความคิดเห็นที่ 31
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
สุญญตวรรค
๑. จูฬสุญญตสูตร (๑๒๑)
....
[๓๔๒] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาลไม่ว่าพวกใดๆ ที่
บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ก็ได้บรรลุสุญญตสมา-
*บัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ในอนาคตกาลไม่ว่าพวก
ใดๆ ที่จะบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ก็จัก
บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ในบัดนี้
ไม่ว่าพวกใดๆ ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น
ย่อมบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ ดูกรอานนท์ เพราะ
ฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่า เราจักบรรลุสุญญตสมาบัติอัน
บริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ จูฬสุญญตสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๔๗๑๔ - ๔๘๔๕. หน้าที่ ๒๐๐ - ๒๐๕.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=4714&Z=4845&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=333
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 19:13:39 ]
ความคิดเห็นที่ 32
ผมขอสรุปนะครับ
มันไม่เกี่ยวกับภาษา ไม่เกี่ยวกับนิกาย ไม่เกี่ยวกับชื่อและนิยาม
ที่ใช้ร้อยกันเป็นการสื่อความหมายที่เรียกว่าไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ
ไม่ว่าจะด้วยภาษา หรือกิริยาแสดง
เป็นแค่กระจกที่ส่องกลับไปสู่ความยึดมั่นของท่านๆเอง
ธรรมจึงไม่ใช่ธรรมในภาษาสังขารของท่าน
ธรรมนั้นจึงเป็นธรรม เพราะท่านเข้าใจแล้ว
ธรรมทั้งปวงจึงเป็นธรรมไม่ว่าแสดงจะด้วยภาษาอะไร
เข้าใจใหมครับ!!!!
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 19:22:34 ]
ความคิดเห็นที่ 33
พูดมากไม่ดี
คุณสปิริต คุณจะทำอย่างไรต่อไปครับ?
ในฐานะของเถรวาท คุณจะรับผิดชอบต่อคำกล่าวของคุณ
ในเรื่องพระสูตรมหายาน อย่างไร?
ผมรออยู่ครับ
Chuck
จากคุณ : จิตเซน หรือมหายาน (JitZungkabuai) - [ 28 พ.ค. 51 19:30:32 ]
ความคิดเห็นที่ 36
กรรมของท่านจักปรากฎเอง
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 20:08:21 ]
ความคิดเห็นที่ 37
...
“ สุภูติ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาใดถูกดูหมิ่นกล่าวร้าย ขณะสาธยายพระสูตรนี้บาปกรรมทั้งหลายที่เขาหรือเธอเคยกระทำมาแต่ชาติปางก่อนตลอดจนอกุศลกรรมซึ่งอาจนำเขาหรือเธอสู่อบายภูมิก็จะหมดสิ้นไป เขาและเธอจะได้เสวยผลแห่งพุทธจิตอันรู้ตื่น รู้เบิกบานอยู่เป็นนิจ
สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลโน้น ก่อนเราจะได้พบพระทีปังกรพุทธเจ้าเราเคยถวายเครื่องบูชา ได้เฝ้าปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธเจ้าจำนวน 84,000 ล้านอสงไขยพระองค์ ถ้าในกาลข้างหน้าเมื่อถึงปลายสมัยแห่งพระสัทธรรม ยังมีบุคคลใดสามารถเลื่อมใส สาธยาย ศึกษา และปฏิบัติพระสูตรนี้ สุขานิสงส์ จากการบำเพ็ญกุศลนี้จักยิ่งใหญ่ไพศาลกว่าที่เราเคยได้รับในอดีตกาลเป็นล้านเท่า แท้จริงแล้วความปีติปราโมทย์นั้นไม่อาจประมาณ ไม่อาจเปรียบเทียบกับสิ่งใดแม้กับตัวเลข ความปีติปราโมทย์นั้นมากล้นคณนา ”
“ ดูก่อน สุภูติ สุขานิสงส์ซึ่งกุลบุตรกุลธิดาผู้เลื่อมใส สาธยาย ศึกษา และปฏิบัติพระสูตร จะได้รับเพราะกุศลอันบำเพ็ญ ณ ปลายสมัยแห่งพระสัทธรรมนั้นใหญ่หลวงนัก หากเราจะแจกแจงอธิบายไซร้บางคนจะสงสัยไม่เชื่อ เกิดวิจิกิจฉาขึ้นในจิต
สุภูติเอย เธอพึงสำเหนียกไว้เถิดว่าอรรถธรรมแห่งพระสูตรนี้เป็นสิ่งไม่อาจคิดนึกหรือพรรณนาผลานิสงส์จากการเลื่อมใส และปฏิบัติพระสูตรก็เป็นสิ่งไม่อาจคิดนึก ไม่อาจพรรณนาได้ดุจเดียวกัน ”
...
-วัชรเทิกปรัชญาปารมิตาสุตร-
___________________________________________________
กรรมของท่านจักปรากฎเอง
SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 20:08:21 ]
หึหึ
จากคุณ : จิตกล้าหาญโคดๆ เข้าใจป่ะ (JitZungkabuai) - [ 28 พ.ค. 51 20:23:02 ]
ความคิดเห็นที่ 38
ผมมีข้อความหนึ่ง อยากให้คุณเจ้าของกระทู้ได้อ่าน เพื่อพิจารณา ให้เข้าใจถึงการอธิบายของผม ก่อนที่คุณจะตัดสินว่า คำกล่าวของผมถูกต้องหรือไม่
"ข้อความ"นั้นที่ผมจะนำมาต่อไปนี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอวํ เม สุตฺตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เป็นต้น
มีใจความดังต่อไปนี้
"
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ ความไม่เป็นไป ความไม่อุบัติ ความไม่เกิดขึ้น ความไม่ปรากฎ ความสิ้นแห่งเชื้อ ความดับสูญแห่งโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส และความสิ้นไปแห่งเบญจขันธ์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และอากาสธาตุอันไม่ถูกมหาภูตรูปแตะต้อง เป็นสิ่งที่เที่ยง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดาอย่างนั้นหรือ
ภ. หามิได้ พระเจ้าข้า
พ. อย่างนั้น อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เห็นว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และอากาสธาตุอันไม่ถูกมหาภูตรูปแตะต้อง เป็นสิ่งที่เที่ยง มีความไม่แปรกรวนเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกเหล่าใดได้สดับแล้ว พิจารณาด้วยญาณ เห็นโทษในความเป็นโทษของธาตุเหล่านี้ จะพึงกำหนัดยินดี มีความรักใคร่ พอใจ ในธาตุเหล่านี้ ข้อนั้นมิใช่โอกาส มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกเหล่าใดได้สดับแล้ว พิจารณาด้วยญาณ เห็นโทษโดยความเป็นโทษของธาตุเหล่านี้ สาวกเหล่านั้นจะน้อมจิตไปสู่นิพพานธาตุอันไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง อันเป็นธรรมสงบ มีจิตน้อมไปสู่ความไม่เป็นไป ความไม่อุบัติ ความไม่เกิดขึ้น ความไม่ปรากฎ ความสิ้นแห่งเชื้อ ความดับสูญแห่งโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส และความสิ้นไปแห่งเบญจขันธ์ สู่อมตธาตุอันประณีต สิ้นตัณหา ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้
พ. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอจำสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สุขเวทนาฯ....ทุกข์เวทนาฯ....อทุขมสุขเวทนาฯ....กามสัญญาฯ....รูปสัญญาฯ....อรูปสัญญาฯ....ปุญญาภิสังขารฯ .....อปุญญาภิสังขารฯ....อเนญชญาภิสังขารฯ....จักขุวิญญาณ....โสตวิญญาณ....ชิวหาวิญญาณ....ฆานวิญญาณ....กายวิญญาณ....มโนวิญญาณ
เป็นสิ่งที่เที่ยง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดาอย่างนั้นหรือ
ภ. หามิได้ พระเจ้าข้า
พ. อย่างนั้น อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เห็นว่า มโนวิญญาณ เป็นสิ่งที่เที่ยง มีความไม่แปรกรวนเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกเหล่าใดได้สดับแล้ว พิจารณาด้วยญาณ เห็นโทษในความเป็นโทษของวิญญาณนี้ จะพึงกำหนัดยินดี มีความรักใคร่ พอใจ ในวิญญาณนี้ ข้อนั้นมิใช่โอกาส มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกเหล่าใดได้สดับแล้ว พิจารณาด้วยญาณ เห็นโทษโดยความเป็นโทษของวิญญาณ สาวกเหล่านั้นจะน้อมจิตไปสู่นิพพานธาตุอันไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง อันเป็นธรรมสงบ มีจิตน้อมไปสู่ความไม่เป็นไป ความไม่อุบัติ ความไม่เกิดขึ้น ความไม่ปรากฎ ความสิ้นแห่งเชื้อ ความดับสูญแห่งโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส และความสิ้นไปแห่งเบญจขันธ์ สู่อมตธาตุอันประณีต สิ้นตัณหา ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักไม่แตะต้องสังขตธรรมด้วยอำนาจตัณหา เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
สาวกเหล่าใด ได้ศรัทธาในพระตถาคตสาวกเหล่า
นั้นพึงได้สดับธรรมของพระผู้มีพระถาคพระองค์นั้น ครั้น
ได้สดับแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำ
หนัดในสังขตธรรมทั้งปวง สาวกเหล่านั้นชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ดำ
เนินไปในทางตรง ไม่คดงอ สาวกเหล่านั้นละความติดข้อง
ในนามรูปแล้ว เป็นผู้ไม่มีใจเกี่ยวเกาะในธรรมอันมีปัจจัย
ปรุงแต่งเที่ยวไป ย่อมนิพพาน
จบสูตรที่ ๑
แก้ไขเมื่อ 28 พ.ค. 51 20:42:32
แก้ไขเมื่อ 28 พ.ค. 51 20:39:53
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 20:37:54 ]
ความคิดเห็นที่ 39
เมื่อคุณเจ้าของกระทู้ได้อ่านแล้ว ขอความกรุณาให้ความเห็นว่า คุณรู้สึกอย่างไรกับข้อความด้านบน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสดีแล้วหรือ ?
ให้ตอบว่า ทรงตรัสดีแล้ว หรือทรงตรัสไม่ดี หรือจะตอบคำตอบอื่น ๆ ก็ย่อมได้
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 20:43:42 ]
ความคิดเห็นที่ 40
ทรงตรัสดีแล้ว
คุณมีอะไรค้างคาใจครับ
ตรัสหรือไม่ได้ตรัสอย่างไร
คุณพิจารณาอย่างไร ถ้าคุณไม่ยอมรับตัวเองแล้วไปสอนคนอื่น
คุณก็ไม่พ้นการกล่าวตู่อยู่ดี
การที่เขายกใส่เกล้ามาให้อ่าน ถ้าคุณจะแย้ง
คุณมีเหตุผลที่จะแย้งหรือไม่
ในกระทู้นี้ผมเห็นแค่เรื่องภาษาสันสกฤต
จริงหรือไม่จริงครับ?
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 21:01:58 ]
ความคิดเห็นที่ 41
ที่ผมยกมานี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องนามรูปตรงไหน เกี่ยวตรงไหน
คุณก็ตอบไม่ได้ หรือไม่อยากจะตอบเพราะอะไรครับ
ผมถามตรงๆ ไม่มีนอกไม่มีใน
ตอบสิ
จากคุณ : จิตเกิดดับ (JitZungkabuai) - [ 28 พ.ค. 51 21:08:10 ]
ความคิดเห็นที่ 42
กรุณารอสักครู่นะครับ
ต้องขออภัยที่ให้รอด้วย
เหตุผลเกี่ยวข้องกันแน่นอนครับ ขอเวลาสักครู่หนึ่ง ไม่เกินสิบนาทีครับ
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 21:17:44 ]
ความคิดเห็นที่ 43
นอกจากนี้ ยังมีข้อความอื่น อีก ขอลงเพิ่มอีกอันหนึ่ง เพื่อการปรับความเข้าใจ ในพระธรรมวินัย และในสิ่งที่ไม่ใช่พระธรรมวินัย
ซึ่งจะขออนุญาตนำมาลงอีก สูตรหนึ่ง ดังต่อไปนี้
"
อเปยยิกธรรมสูตร
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังโรงบำรุง ครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว ทรงล้างพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก ประทับนั่งพิงเสากลาง บ่ายพระพักตร์ไปทางบูรพทิศ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหลังบ่ายหน้าไปทางบูรพทิศแวดล้อมพระผู้มีพระภาค ส่วนพวกอุบาสกล้างเท้าแล้ว เข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหน้า บ่ายหน้าไปทางปัจฉิมทิศแวดล้อมพระผู้มีพระภาค ฯ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฐานะอันเป็นไปไม่ได้ของพระโพธิสัตว์ ๔ นี้ ฐานะอันเป็นไปไม่ได้ของพระโพธิสัตว์ ๔ นี้ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ ผู้ประกอบด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ในการบำเพ็ญพุทธบารมี ผู้ได้สร้างสมบุญญาธิการด้วยการตั้งกาย วาจา ใจ ในพุทธภูมิในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ย่อมไม่ถึงฐานะ ๔ เหล่านี้คือ ความเกิดเป็นเพศชาย ความเกิดเป็นคนทุคตะ ความเกิดในอรูปพรหม และการถือความเห็นผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้ได้สร้างสมบุญญาธิการด้วยการตั้งกาย วาจา ใจ ในพุทธภูมิในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ย่อมไม่ถึงฐานะเหล่านี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เปรียบเหมือนบุรุษผู้ผู้เกิดในตระกูลเข็ญใจ แต่ เป็นผู้มีปัญญาสอดส่อง มีมือเท้าไม่วิการ มีความเพียร จะยังญาติทั้งหลายให้ถึงความสวัสดีจากความเข็ญใจในที่สุดได้หรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เพียงเป็นผู้มีปัญญาสอดส่องเพียงอย่างเดียว เขาย่อมยังตนและญาติให้พ้นจากความขัดสนได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงความมีมือเท้าไม่วิการ มีความเพียรเล่า พระเจ้าข้า
พ. อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุรุษผู้ผู้เกิดในตระกูลเข็ญใจ แต่ เป็นผู้มีปัญญาสอดส่อง มีมือเท้าไม่วิการ มีความเพียร ย่อมยังประโยชน์แก่ตน และญาติให้สำเร็จได้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าพระโพธิสัตว์เป็นบุรุษผู้ยังประโยชน์โลกให้สำเร็จได้ด้วยอุปมานี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุรุษผู้เกิดในตระกูลเข็ญใจนี้ เป็นชื่อของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เพราะพระโพธิสัตว์เหล่านั้น เมื่อเกิด ย่อมเกิดเพื่อสร้างบารมีในกามโลกโดยแท้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อสร้างบารมี ย่อมเป็นผู้ไม่เสพความเห็นผิด ย่อมเป็นผู้ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียรเพื่อพระอนุตตรสัมโพธิญาณ เปรียบเหมือนบุรุษผู้เกิดในตระกูลเข็ญใจ มีมือเท้าไม่วิการ มีความเพียร ย่อมยังประโยชน์ตนและญาติให้สำเร็จในที่สุดได้ฉันนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งปวงนั้น เมื่อสร้างบารมี ย่อมสร้างบารมีเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเหล่าอื่น เพื่อเกื้อกูลแก่ทั้งตน ทั้งชนเหล่าอื่น เพื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณอันมีคุณเป็นอนันต์ เพื่อยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดจะเลื่อมใสในพระโพธิสัตว์ก็ดี จะระลึกถึงคุณแห่งพระโพธิสัตว์ก็ดี จะนอบน้อมพระโพธิสัตว์อย่างไม่เสแสร้งก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมถึงสุคติโลกสวรรค์ แม้เมื่อกลับมาเป็นอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้มีปัญญา ไม่ตกต่ำ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งปวง เมื่อบำเพ็ญพุทธการกธรรม ย่อมตั้งจิตถึงพุทธภูมิเพียงเท่านั้น ไม่ติดอยู่ในภพ บำเพ็ญพุทธการกธรรม แม้ยังไม่สิ้นกิเลส แต่ย่อมมีจิตดังพระพุทธะทั้งปวงทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พระโพธิสัตว์ผู้สร้างสมพุทธการกธรรม ยังเป็นผู้ประกอบด้วยคุณมาก ด้วยอธิการมาก ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมประกอบด้วยคุณอันเลิศกว่านั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากชนเหล่าใด เลื่อมใสในเราก็ดี ในพระธรรมก็ดี ในพระสงฆ์ก็ดี ชนเหล่านั้น ชื่อว่าได้เลื่อมใสในรัตนอันเลิศ ข้อนั้นเพราะเหตุใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเรายังไม่เล็งเห็นสรณะอื่น อันทำให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้ เหนือไปกว่าพุทธรัตน ธรรมรัตน สังฆรัตนเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เมื่อมีจิตอนุเคราะห์กุลบุตรเหล่าใด พึงพยายาม พึงพากเพียร เพื่อให้กุลบุตรเหล่านั้นได้ศรัทธาในพระตถาคต ในพระธรรม ในพระสงฆ์เถิด ข้อนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข แก่กุลบุตรเหล่านั้นตลอดกาลนาน
พระโพธิสัตว์เหล่าใด อุบัติแล้วในโลก พระ
โพธิสัตว์เหล่านั้น ย่อมบำเพ็ญบารมีอันสูงอันยัง
สัตว์ให้อ้นจากสังสารทุกข์ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นเลิศในที่ทั้งปวง ในทุกแห่งหน เพราะทรงยัง
สัตว์ให้ข้ามพ้นแดนกันดาร ถึงฝั่งแห่งสงสาร ชนเหล่าใดได้ศรัท
ธาในพระตถาคตเจ้า ชนเหล่านั้นย่อมพ้นจากภัย ดุจบุตรได้
ที่พึ่งอันเกิดแต่มารดาบิดา ฉะนั้น
จบสูตรที่ ๗
อรรถกถา อเปยยิกธรรมสูตร มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
ได้ยินว่า ในสมัยนั้น เมื่อพระศาสดาตรัสรู้ใหม่ ชนทั้งหลายผู้ได้ศรัทธาในพระศาสดา ย่อมสักการะหมู่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แต่ชนบางเหล่า เป็นสาวกของเดียรถีย์ เลื่อมใสในลัทธิของนิครนถ์ เป็นต้น ชนเหล่านั้น ทำกาละแล้ว เกิดในนรกโดยมาก พระผู้มีพระภาคทรงมีพระปริวิตกว่า บัดนี้ ชนเหล่าใดยังไม่ได้ศรัทธาในเรา ชนเหล่านั้นทำกาละแล้ว ย่อมถึงทุคติหนอ บัดนี้ เราจะยังเทศนาให้ถึงที่สุด เพื่อยังชนที่ไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปยังโรงที่บำรุง พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย"
ข้อความมีเท่านี้ก่อน
เรียนถามว่า ข้อความที่ยกมานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้วหรือไม่
และหากใครได้เรียน ได้ศึกษา ทั้งสองสูตรที่ยกมานี้ ในสองความเห็นนี้ เขาเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์มากหรือไม่ ?
ขอรบกวนให้คุณJitZungkabuaiให้คำตอบส่วนนี้ด้วย
แก้ไขเมื่อ 28 พ.ค. 51 21:38:58
แก้ไขเมื่อ 28 พ.ค. 51 21:31:44
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 21:28:58 ]
ความคิดเห็นที่ 44
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค
๒. มหานิทานสูตร (๑๕)
...
[๖๐] ดูกรอานนท์ ธรรมทั้งสองเหล่านี้ รวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนา
โดยส่วนสอง ด้วยประการดังนี้แล ฯ
ก็คำนี้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้
ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา ดูกรอานนท์ ก็ถ้าผัสสะมิได้มีแก่ใครๆ
ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหา-
*สัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เมื่อไม่มีผัสสะโดยประการทั้งปวง เพราะ
ดับผัสสะเสียได้เวทนาจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งเวทนา
ก็คือผัสสะนั่นเอง ฯ
ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามกาย
ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุเทศ
นั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกายจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ การบัญญัติรูปกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ
เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการกระทบ จะพึง
ปรากฏในนามกายได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามก็ดี รูปกายก็ดี ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อ
ก็ดี การสัมผัสโดยการกระทบก็ดี จะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ
เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี ผัสสะจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งผัสสะ
ก็คือนามรูปนั่นเอง ฯ
ก็คำนี้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป ดูกรอานนท์ ก็วิญญาณจักไม่หยั่งลง
ในท้องแห่งมารดา นามรูปจักขาดในท้องแห่งมารดาได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องแห่งมารดาแล้วจักล่วงเลยไป
นามรูปจักบังเกิดเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณ ของกุมารก็ดี ของกุมาริกาก็ดี ผู้ยังเยาว์วัยอยู่
จักขาดความสืบต่อ นามรูปจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งนามรูป
ก็คือวิญญาณนั่นเอง ฯ
ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณจักไม่ได้
อาศัยในนามรูปแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งชาติชรามรณะและกองทุกข์ พึงปรากฏ
ต่อไปได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งวิญญาณ
ก็คือนามรูปนั่นเอง ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้แหละ อานนท์ วิญญาณและนามรูป
จึงยังเกิด แก่ ตาย จุติ หรืออุปบัติ ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ ทางแห่งบัญญัติ
ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญาและวัฏฏสังสาร ย่อมเป็นไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ๆ ความ
เป็นอย่างนี้ ย่อมมีเพื่อบัญญัติ คือนามรูปกับวิญญาณ ฯ
....
....
[๖๖] ดูกรอานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
๑. ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๑
๒. ผู้ไม่มีความสำคัญในรูปในภายใน ย่อมเห็นรูปในภายนอก นี้เป็น
วิโมกข์ข้อที่ ๒
๓. ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่า กสิณเป็นของงาม นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๓
๔. ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้
เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดย
ประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๔
๕. ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้
เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๕
๖. ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วง
วิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๖
๗. ผู้ที่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ
โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๗
๘. ผู้ที่บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ
โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๘
ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล วิโมกข์ ๘ ประการ ภิกษุเข้าวิโมกข์ ๘ ประการ
เหล่านี้ เป็นอนุโลมบ้าง เป็นปฏิโลมบ้าง เข้าทั้งอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าบ้าง
ออกบ้าง ตามคราวที่ต้องการ ตามสิ่งที่ปรารถนา และตามกำหนดที่ต้องประสงค์
จึงบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป เพราะ
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน อานนท์ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า
อุภโตภาควิมุตติ อุภโตภาควิมุตติอื่นจากอุภโตภาควิมุตตินี้ที่จะยิ่งหรือประณีตไป
กว่าไม่มี พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ยินดี ชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบมหานิทานสูตร ที่ ๒
-----------------------------------------------------
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๑๔๕๕ - ๑๘๘๗. หน้าที่ ๖๐ - ๗๗.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1455&Z=1887&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=57
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 21:32:44 ]
ความคิดเห็นที่ 45
เรื่องนามรูปยกไว้ก่อน เพราะตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญกว่า
หากเรื่องนามรูปผมได้ให้ความเห็นผิดพลาด ขออภัย แต่ขอให้คุณได้ตอบคำถามในความเห็นด้านบน (คห.43) นี้ก่อนครับ
ผมไม่ได้ยกพระสูตรอื่นมาอ้างเพื่อทำให้ประเด็นไขว้เขวครับ
แก้ไขเมื่อ 28 พ.ค. 51 21:37:08
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 21:35:05 ]
ความคิดเห็นที่ 46
เพศไม่มีหรือ คุณสปิริต
คุณยกเรื่องพระโพธิสัตว์มา คุณคิดว่าผมสนใจพระโพธิสัตว์ มากกว่าการประกอบกุศลทั้งปวงหรือครับ?
คุณจะอ้างอย่างไร เรื่องคุณธรรม ตำหนิผู้เป็นพรหมด้วยพรหมวิหารหรือ
ผิดเรื่องผิดราว และที่คุณยกมาก็เพื่อปกป้องตัวเองเท่านั้น
ผมกล่าวผิดหรือครับ?
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 21:38:38 ]
ความคิดเห็นที่ 47
ถ้าตอบแล้ว ผมจะยอมรับข้อผิดพลาดทั้งหมดที่มีครับ
แต่ว่าขอให้อ่านทั้งหมดในความเห็นที่ 43 และตอบคำถามที่ผมได้ตั้งไว้ตอนท้ายของความเห็นที่ 43 ก่อนครับ
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 21:40:41 ]
ความคิดเห็นที่ 48
คห.43 ของคุณกล่าวถึงเดียรถีย์ เป็นต้น
คุณต้องแก้ให้ได้ก่อนสิครับว่า
พระไตรปิฎกที่แปลจากภาษาสันสกฤต ไม่ใช่พระพุทธวจนะ!!!!
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 21:42:15 ]
ความคิดเห็นที่ 49
ผมจะขอโทษ หากคำตอบทั้งหมดผิดพลาด และจะประกาศขออภัยอย่างเป็นทางการในกระทู้ใหม่ซึ่งจะตั้งเพื่อขอโทษคุณ โดยเฉพาะ
แต่ใคร่ขอความกรุณาให้คุณได้ตอบคำถามสามข้อในความคิดเห็นที่ 43
1. เรียนถามว่า ข้อความที่ยกมานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้วหรือไม่
2. และหากใครได้เรียน ได้ศึกษา ทั้งสองสูตรที่ยกมานี้ ในสองความเห็นนี้ เขาเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์มากหรือไม่ ?
ขอบคุณมากครับ
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 21:46:59 ]
ความคิดเห็นที่ 50
^
คำถามสองข้อครับ ไม่ใช่สามข้อ พิมพ์ผิด ใจร้อนไปนิด
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 21:48:06 ]
ความคิดเห็นที่ 51
พิจารณาคำถามของคุณเองทั้งหมดในกระทู้นี้ก่อนนะครับ
พรุ่งนี้ผมจะกลับมาคุยอีกครั้ง
Chuck
จากคุณ : จิตตสูตร (JitZungkabuai) - [ 28 พ.ค. 51 21:50:12 ]
ความคิดเห็นที่ 52
เมื่อไม่ได้รับคำตอบ เราขอสรุปสมมุติว่า (สมมุติ)คุณตอบในความคิดเห็นที่ 43 ว่า พระพุทธเจ้าตรัสชอบแล้ว และผู้ที่ได้อ่านสูตรนั้น จะได้ประโยชน์ จากการคาดคะเนจากคำตอบในความคิดเห็นที่ 40
ความคิดเห็นที่ 40
ทรงตรัสดีแล้ว
คุณมีอะไรค้างคาใจครับ
ตรัสหรือไม่ได้ตรัสอย่างไร
คุณพิจารณาอย่างไร ถ้าคุณไม่ยอมรับตัวเองแล้วไปสอนคนอื่น
คุณก็ไม่พ้นการกล่าวตู่อยู่ดี
การที่เขายกใส่เกล้ามาให้อ่าน ถ้าคุณจะแย้ง
คุณมีเหตุผลที่จะแย้งหรือไม่
ในกระทู้นี้ผมเห็นแค่เรื่องภาษาสันสกฤต
จริงหรือไม่จริงครับ?
จากคุณ : JitZungkabuai "
ความคิดเห็นที่ 40
ทรงตรัสดีแล้ว
ไม่ใช่เลยครับ ไม่ได้ทรงตรัสดีแล้วเลย
เพราะสูตรในความเห็นที่ 38 และ 43
เราแต่งเอง แต่งแบบลอกเลียนจนคุณเห็นว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง จึงเชื่อ จึงเขียนในความเห็นที่ 40 ว่า
"ความคิดเห็นที่ 40
ทรงตรัสดีแล้ว"
เราได้เขียนเอง สด ๆ เมื่อตอนหัวค่ำ ไม่ได้นำมาจากพระไตรปิฎกพระสูตรใด และอเปยยิกธรรมสูตร เราได้ตั้งชื่อมาเอง
นี่แสดงให้เห็นว่า คุณได้เชื่อในพระสูตรที่เพียงว่า อ้างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแล้ว จะต้องเป็นการตรัสของพระพุทธองค์จริงๆ
ซึ่งอันตรายอยู่ตรงนี้
หลายท่านไม่ได้ทราบว่า พระสูตรใดพระพุทธองค์ตรัสจริง สาเหตุที่เรากล่าวถึงภาษาสันสกฤต เพราะเป็นกุญแจแรกที่เราจะตรวจสอบได้ว่า พระสูตรนั้น จริงหรือไม่
จริงอยู่ ภาษาใดก็ตาม เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น แต่การพิจารณาว่า ที่มาของพระสูตรนั้น เป็นพระพุทธดำรัสหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา
อย่างเช่นในความเห็นที่ 38 นี้ เป็นพระสูตรปลอมที่เรานั่งแต่งขึ้นมาเองคุณก็เชื่อว่าเป็นของจริง เพราะคุณตอบว่า พระพุทธองค์ตรัสดีแล้ว ทั้งที่เราแต่งขึ้นมาแท้ ๆ
แล้วพระสูตรอื่น ๆ ที่เผยแพร่กัน ในมหายาน ซึ่งเราก็ต่างทราบว่า ในการสังคายนาพระไตรปิฎกที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น สังคายนาด้วยภาษามคธทั้งสิ้น แต่ในการสังคายนาครั้งที่สาม เกิดอธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งไม่พอใจ และหนีขึ้นไปทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย พระสงฆ์เหล่านั้น แต่งพระสูตรขึ้นมาใหม่ ด้วยภาษาสันสกฤต ตรงนี้นักประวัติศาสตร์ชาวพุทธทราบกันดี พระไตรปิฎกส่วนนี้เอง ได้กลายเป็นพระพุทธศาสนามหายานในที่สุด แม้เรื่องนามรูปใด ๆ มีอยู่ สิ่งนั้นก็เป็นการแต่งขึ้นมาเองทั้งสิ้น
แต่ก็มีคนเชื่อ เหมือนที่เชื่อว่าพระสูตรที่ความเห็น 38 เป็นของจริง
เราเองนั่งพิมพ์ไปคิดไปตอนฝนกำลังตกสบาย ๆ
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:49:26
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:47:11
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:33:39
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:15:17
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 22:03:46 ]
ความคิดเห็นที่ 53
ไม่ยากเลย ในการลอกเลียน
อีกตัวอย่างหนึ่ง
ติณลททสูตร
"ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์อุกุสสะ กลับจากพระราชวังด้วยกิจบางอย่าง ครั้นแล้ว ได้เข้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อพักกลางวัน ครั้งนั้น พราหมณ์อุกุสสะได้ผ่านไปยังบริเวณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้มีปริวิตกว่า นั่นพระสมณโคดมศากยบุตร ผู้ปรับวาทะ จำเราควรเข้าไปหา ครั้นแล้ว จึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กระทำสัมโมทนียกถาแก่พระผู้มีพระภาค แล้วได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ ในมนต์ของพราหมณ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณจารย์อันท่านเรียนแล้ว คล่องแคล่วแล้ว พึงทำให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ในปัจจุบันมีอยู่หรือ
อุ. ข้าแต่พระโคดม มีอยู่ทีเดียว ในมนต์ของปาจารย์ของข้าพเจ้าที่สืบทอดมาแต่โบราณจารย์ อันข้าพระองค์เรียนแล้ว คล่องแคล่วแล้ว พึงทำให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ในปัจจุบันมีอยู่
พ. ดูกรพราหมณ์ ก็ในลัทธิของท่าน ธรรมใดเล่า อันทำให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ในปัจจุบัน
อุ. ข้าแต่พระโคดม บุคคลนั่งก็ดี นอนก็ดี เดินก็ดี ยืนก็ดี พึงร้องเพลงญี่ปุ่น ใส่หมวกทรงอินเดียนาโจนส์ สวมเกราะเหล็ก บูชาไฟในตอนเช้า ครั้นแล้ว ลงอาบน้ำในตอนเย็นในแม่น้ำคงคา เที่ยวถ่มน้ำลายใส่สุนัข ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ เป็นอันธรรมที่พึงทำให้ถึงความบริสุทธิ์ในปัจจุบัน
พ. ดูกรพราหมณ์ นั่นเป็นธรรมอันให้ถึงความบริสุทธิ์หรือ
อุ. อย่างนั้น พระโคดม
พ. ท่านกล่าวอย่างนั้นหรือ
อุ. อย่างนั้น พระโคดม
พ. ท่านกล่าวอย่างนั้นหรือ
อุ. อย่างนั้น พระโคดม
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค ทรงให้พราหมณ์นั้นยืนยันลัทธิของตนถึงสามครั้งด้วยประการฉะนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอุกุสสะพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ร้องเพลงญี่ปุ่น ใส่หมวกทรงอินเดียนาโจนส์ สวมเกราะเหล็ก บูชาไฟในตอนเช้า ครั้นแล้ว ลงอาบน้ำในตอนเย็นในแม่น้ำคงคา เที่ยวถ่มน้ำลายใส่สุนัข เป็นผู้ฆ่าสัตว์มีอยู่หรือหนอ
อุ. มีอยู่ทีเดียวพระโคดม
พุ. ดูกรพราหมณ์ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลร้องเพลงญี่ปุ่น ... เป็นผู้ลักทรัพย์ ....เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม....พูดโกหก.....พูดส่อเสียด....พูดคำหยาบ.....พูดเพ้อเจ้อ .....มีอภิชฌาแรงกล้า.....มีจิตพยาบาท.....มีความเห็นผิด มีอยู่หรือหนอ
อุ. มีอยู่ทีเดียวพระโคดม
พ. ดูกรอุกุสสะพราหมณ์ คำหลังของท่านไม่ต่อกับคำก่อน คำก่อนของท่านไม่ต่อกับคำหลัง บุคคลผู้ประพฤติผิดในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ท่านกล่าวว่ามีอยู่ทีเดียว ในเหล่าพราหมณ์ผู้ร้องเพลงญี่ปุ่น ใส่หมวกทรงอินเดียนาโจนส์ สวมเกราะเหล็ก บูชาไฟในตอนเช้า ครั้นแล้ว ลงอาบน้ำในตอนเย็นในแม่น้ำคงคา เที่ยวถ่มน้ำลายใส่สุนัข จะเป็นผู้พ้นแล้วจากอกุศลบาปธรรมนั้น ๆ ได้ไม่มีเลยมิใช่หรือ
อุ. ไม่มีเลยพระโคดม
พ. ดูกรพราหมณ์ การร้องเพลงญี่ปุ่น ใส่หมวกทรงอินเดียนาโจนส์ สวมเกราะเหล็ก บูชาไฟในตอนเช้า ครั้นแล้ว ลงอาบน้ำในตอนเย็นในแม่น้ำคงคา เที่ยวถ่มน้ำลายใส่สุนัข ย่อมไม่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์ได้ ดูกรพราหมณ์ ส่วนธรรมวินัยที่เราได้ประกาศแล้ว แสดงแล้ว ย่อมทำให้สัตว์บริสุทธิ์ได้ในปัจจุบันทีเดียว ธรรมเหล่านั้นเป็นไฉนคือ สัมมาทิฎฐิ.....สัมมาสมาธิ ดูกรพราหมณ์ ธรรมเหล่านี้แล อันเราได้ประกาศแล้ว แสดงแล้ว ย่อมทำให้สัตว์บริสุทธิ์ได้ในปัจจุบันทีเดียว
อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เหมือนบุคคลผู้หงายของที่คว่ำ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดด้วยหมายให้คนมีจักษุมองเห็น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงจำข้าพระองค์ว่าเป็นผู้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
จบสูตรที่๔
พระสูตรด้านบนนี้หยกเองแต่งสักครู่นี้เอง
ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาลบหลู่พระรัตนตรัย แต่เพื่อความเข้าใจ ข้าพเจ้าจึงต้องแสดงตัวอย่างดังกล่าว ว่า การที่ลัทธิอื่นในศาสนาพุทธ แต่งพระสูตรเองขึ้นมา เป็นฐานะที่จะมีได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ผู้ที่ได้อ่าน จะได้รับเพียงแค่ความรู้เบื้องต้นจากพุทธสาวกเท่านั้น เพราะขึ้นชื่อว่าพระสูตรปลอมแล้ว ไม่มีในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:12:56
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 29 พ.ค. 51 02:02:21 ]
ความคิดเห็นที่ 54
ถ้าเป็นผู้ที่ได้เคยอ่านพระไตรปิฎกมาก่อนแล้ว การเลียนแบบเพื่อหลอกลวงผู้อื่นทำได้ไม่ยากเลย
ยกตัวอย่างเช่น อรรถกถาปลอม ต่อไปนี้
อรรถกถา ติณลททสูตร มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
ได้ยินว่า พราหมณ์นั้น เป็นผู้ชอบร้องเพลงญี่ปุ่น จึงไปในสำนักของพระเจ้าพิมพิสารแต่เช้า เพื่อร้องเพลงญี่ปุ่นถวายพระราชา เมื่อได้รับการบำรุงในสำนักพระราชาแล้ว เกิดความคิดที่จะกลับ ระหว่างทางพบพระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปในสำนักของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงแสดงว่า โอ มยฺหํ ธุรํ ระทม เป็นต้น
บทว่า เอเต โลเล ความว่า ในมนต์ของพราหมณ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณจารย์อันท่านเรียนแล้ว
บทว่า เจเค เอลพีจี ความว่า ในสำนักของพราหมณ์ทั้งหลาย มีพราหมณ์กัจฉโคตร เป็นต้น
บทว่า ตตฺถ ปริสุทโธ เอบีซี ความว่า นั่งก็ดี นอนก็ดี แม้ในอิริยาบถย่อยทั้งปวงท่านก็กล่าวลงในบทนี้
^
นี้เป็นการแสดงตัวอย่าง
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 29 พ.ค. 51 02:30:45 ]
ความคิดเห็นที่ 55
ความคิดเห็นที่ 53
มีอินเดียน่าโจน ในพระสูตร(ปลอม)ด้วย
เข้าใจคิดแท้
แต่ของเถรวาทก็ใช่ว่าจะครบถ้วนกระบวนความ
สุดท้ายก็ กาลามสูตร
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:53:18
จากคุณ : in_my_metal - [ 29 พ.ค. 51 02:43:18 ]
ความคิดเห็นที่ 56
กาลามสูตรสอนว่า อย่าคิดโดยสิ่งที่ไม่มีเหตุผลสิบข้อ
และให้ยอมรับในสามข้อ คือ
หนึ่ง ธรรมนั้นเป็นไปเพื่อตัดความต้องการ
สอง ธรรมนั้นเป็นไปเพื่อตัดความไม่พอใจ(ความโกรธ)
สาม ธรรมนั้นเป็นไปเพื่อความเห็นสภาพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 29 พ.ค. 51 03:05:59 ]
ความคิดเห็นที่ 57
"แต่ของเถรวาทก็ใช่ว่าจะครบถ้วนกระบวนความ"
ทองคำผสม ก็ยังดีกว่า โลหะเคลือบทองจริงไหม
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 03:50:07
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 29 พ.ค. 51 03:10:23 ]
ความคิดเห็นที่ 58
ความคิดเห็นที่ 39
เมื่อคุณเจ้าของกระทู้ได้อ่านแล้ว ขอความกรุณาให้ความเห็นว่า คุณรู้สึกอย่างไรกับข้อความด้านบน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสดีแล้วหรือ ?
ให้ตอบว่า ทรงตรัสดีแล้ว หรือทรงตรัสไม่ดี หรือจะตอบคำตอบอื่น ๆ ก็ย่อมได้
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 20:43:42 ]
_____________________________________________________
ความคิดเห็นที่ 40
ทรงตรัสดีแล้ว
คุณมีอะไรค้างคาใจครับ
ตรัสหรือไม่ได้ตรัสอย่างไร
คุณพิจารณาอย่างไร ถ้าคุณไม่ยอมรับตัวเองแล้วไปสอนคนอื่น
คุณก็ไม่พ้นการกล่าวตู่อยู่ดี
การที่เขายกใส่เกล้ามาให้อ่าน ถ้าคุณจะแย้ง
คุณมีเหตุผลที่จะแย้งหรือไม่
ในกระทู้นี้ผมเห็นแค่เรื่องภาษาสันสกฤต
จริงหรือไม่จริงครับ?
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 21:01:58 ]
_____________________________________________________
^
^
คุณถามอย่างไร คุณถามว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสดีแล้วหรือ ?
ผมตอบแล้วว่า ทรงตรัสดีแล้ว
ผมตอบไม่ผิดไม่ใช่หรือ
และ
ผมไม่ได้พิจารณาพระสูตรที่คุณยกมาเลยโปรดเข้าใจไว้ด้วย!!!!
คุณยังไม่ได้แก้หรือตอบคำถามผมนะคุณสปิริต
ยกมาใหม่นะครับ
v
v
_____________________________________________________
ความคิดเห็นที่ 48
คห.43 ของคุณกล่าวถึงเดียรถีย์ เป็นต้น
คุณต้องแก้ให้ได้ก่อนสิครับว่า
พระไตรปิฎกที่แปลจากภาษาสันสกฤต ไม่ใช่พระพุทธวจนะ!!!!
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 21:42:15 ]
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 29 พ.ค. 51 09:10:47 ]
ความคิดเห็นที่ 59
อ่านแล้วงง แต่ถ้าคนที่อ่านแล้วได้ประโยชน์จากกระทู้นี้ก็ดีครับ
อนุโมทนาด้วย
จากคุณ : สวรรค์รำไร - [ 29 พ.ค. 51 09:43:22 ]
ความคิดเห็นที่ 60
ความคิดเห็นที่ 46
เพศไม่มีหรือ คุณสปิริต
คุณยกเรื่องพระโพธิสัตว์มา คุณคิดว่าผมสนใจพระโพธิสัตว์ มากกว่าการประกอบกุศลทั้งปวงหรือครับ?
คุณจะอ้างอย่างไร เรื่องคุณธรรม ตำหนิผู้เป็นพรหมด้วยพรหมวิหารหรือ
ผิดเรื่องผิดราว และที่คุณยกมาก็เพื่อปกป้องตัวเองเท่านั้น
ผมกล่าวผิดหรือครับ?
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 28 พ.ค. 51 21:38:38 ]
___________________________________________________
อย่าให้ผมต้องถามคุณซ้ำๆซากๆ
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 29 พ.ค. 51 10:20:11 ]
ความคิดเห็นที่ 61
ตอบหมดแล้ว
แค่นี้นะ
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 29 พ.ค. 51 10:32:16 ]
ความคิดเห็นที่ 62
พระสูตรที่แปลจากภาษาสันสกฤตทั้งหมด ไม่ใช่พระพุทธวจนะใช่หรือไม่?
ตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่ ก็พอครับตามความเห็นของคุณ
เพราะผมทราบดีอยู่แล้วว่า คุณไม่เชื่อว่าพระสูตรนี้เป็นพระพุทธวจนะ
แต่ที่ถามย้อนคุณอยู่นี่ เพราะคห.๖ และ ๘ ของคุณ
แล้วคุณลบ คห.ของคุณออกไปทำไมครับ คุSpiritWithin_HolyStream !!!!
ถ้าลบแล้ว ก็ลบ สูตรอินเดียน่า โจนส์ และพระสูตรที่คุณแต่งเองออกไปให้หมดด้วย
ไม่นับถือ กระทู้นี้เป็นคำรบสอง และนี่จำไว้ให้ดีคำรบแรก
เฮอะๆๆๆๆๆ
v
v
ความคิดเห็นที่ 13
จาก ค.ห.๘
"น่าตกใจ ที่หลายคนเชื่อถือพระสูตรฝ่ายมหายาน ทำให้การปฏิบัติผิดไป"
แล้วคุณ SpiritWithin_HolyStream ผู้ยึดมั่นถือมั่นในพระสูตรฝ่ายเถรวาทอย่างยิ่ง เพราะเหตุใดในกระทู้หนึ่งที่คุณเองนำพระสูตรเถรวาทมาเสนอ แล้วถูกแย้งจนคุณเองเถียงไม่ออก คุณจึงลบกระทู้ดังกล่าวนั่นไปเสียล่ะคะ
ถ้าคุณถามว่า เป็นกระทู้ใด (เพราะคุณอาจนำพระสูตรและอรรถกถาต่างๆ ตั้งเป็นกระทู้บ่อยครั้งจนจำไม่ได้)
ตอบว่า เป็นกระทู้ที่คุณนำอรรถกถาเกี่ยวกับอุบาสกผู้ยึดมั่นในพระรัตนตรัยขณะที่ภรรยาคบชู้ และคุณนำรูปของคุณเองมาโพสต์ไว้นั่นแหละค่ะ
การปฏิบัติเช่นนั้น ขึ้นชื่อว่า ถูกต้อง งดงามกว่าการปฏิบัติตามพระสูตรฝ่ายมหายานที่คุณรังเกียจเหรอคะ
จากคุณ : หนอนดาวเรือง - [ 28 พ.ค. 51 01:31:44 ]
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 29 พ.ค. 51 10:45:46 ]
ความคิดเห็นที่ 63
เรียน คุณสปิริท_วิธอิน ทราบ
วัชรเฉทิกฯ เป็นพระสูตรหนึ่งใน มหาปรัชญาปารมิตตาสูตร
แปลจากสันสกฤตเป็นภาษาจีน
หลักฐานปรากฎในถ้ำตุนหวง เป็นภาษาจีน เป็นหนังสือพิมพ์หมึกแกะบล๊อกไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่British Museum
ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วไป ไม่เหมือนภาษาสันสกฤตที่ใช้กันในวรรณะสูงในอินเดีย ถ้าจำไม่ผิด พระองค์จึงทรงตั้งอาบัติไว้เช่นนั้น
คำภีร์พระเวทเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช่คำภีร์พระเวทไม่ดี
แต่หมายว่าคำสอนของพระพุทธองค์ไม่มีเรื่องวรรณะมาเกี่ยว
พระพุทธองค์ทรงเชี่ยวชาญเรื่องภาษาสันสกฤต
ทำไมทรงปรับอาบัตินี้แก่พระภิกษุผู้สาธยายเล่า
ขอให้เข้าใจความเป็นมาอย่างนี้และปรับใช้ให้เหมาะสมเถิด
Chuck
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 29 พ.ค. 51 11:17:02 ]
ความคิดเห็นที่ 64
ความคิดเห็นที่ 52
เมื่อไม่ได้รับคำตอบ เราขอสรุปสมมุติว่า (สมมุติ)คุณตอบในความคิดเห็นที่ 43 ว่า พระพุทธเจ้าตรัสชอบแล้ว และผู้ที่ได้อ่านสูตรนั้น จะได้ประโยชน์ จากการคาดคะเนจากคำตอบในความคิดเห็นที่ 40
ความคิดเห็นที่ 40
ทรงตรัสดีแล้ว
คุณมีอะไรค้างคาใจครับ
ตรัสหรือไม่ได้ตรัสอย่างไร
คุณพิจารณาอย่างไร ถ้าคุณไม่ยอมรับตัวเองแล้วไปสอนคนอื่น
คุณก็ไม่พ้นการกล่าวตู่อยู่ดี
การที่เขายกใส่เกล้ามาให้อ่าน ถ้าคุณจะแย้ง
คุณมีเหตุผลที่จะแย้งหรือไม่
ในกระทู้นี้ผมเห็นแค่เรื่องภาษาสันสกฤต
จริงหรือไม่จริงครับ?
จากคุณ : JitZungkabuai "
ความคิดเห็นที่ 40
ทรงตรัสดีแล้ว
ไม่ใช่เลยครับ ไม่ได้ทรงตรัสดีแล้วเลย
เพราะสูตรในความเห็นที่ 38 และ 43
เราแต่งเอง แต่งแบบลอกเลียนจนคุณเห็นว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง จึงเชื่อ จึงเขียนในความเห็นที่ 40 ว่า
"ความคิดเห็นที่ 40
ทรงตรัสดีแล้ว"
เราได้เขียนเอง สด ๆ เมื่อตอนหัวค่ำ ไม่ได้นำมาจากพระไตรปิฎกพระสูตรใด และอเปยยิกธรรมสูตร เราได้ตั้งชื่อมาเอง
นี่แสดงให้เห็นว่า คุณได้เชื่อในพระสูตรที่เพียงว่า อ้างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแล้ว จะต้องเป็นการตรัสของพระพุทธองค์จริงๆ
ซึ่งอันตรายอยู่ตรงนี้
หลายท่านไม่ได้ทราบว่า พระสูตรใดพระพุทธองค์ตรัสจริง สาเหตุที่เรากล่าวถึงภาษาสันสกฤต เพราะเป็นกุญแจแรกที่เราจะตรวจสอบได้ว่า พระสูตรนั้น จริงหรือไม่
จริงอยู่ ภาษาใดก็ตาม เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น แต่การพิจารณาว่า ที่มาของพระสูตรนั้น เป็นพระพุทธดำรัสหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา
อย่างเช่นในความเห็นที่ 38 นี้ เป็นพระสูตรปลอมที่เรานั่งแต่งขึ้นมาเองคุณก็เชื่อว่าเป็นของจริง เพราะคุณตอบว่า พระพุทธองค์ตรัสดีแล้ว ทั้งที่เราแต่งขึ้นมาแท้ ๆ
แล้วพระสูตรอื่น ๆ ที่เผยแพร่กัน ในมหายาน ซึ่งเราก็ต่างทราบว่า ในการสังคายนาพระไตรปิฎกที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น สังคายนาด้วยภาษามคธทั้งสิ้น แต่ในการสังคายนาครั้งที่สาม เกิดอธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งไม่พอใจ และหนีขึ้นไปทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย พระสงฆ์เหล่านั้น แต่งพระสูตรขึ้นมาใหม่ ด้วยภาษาสันสกฤต ตรงนี้นักประวัติศาสตร์ชาวพุทธทราบกันดี พระไตรปิฎกส่วนนี้เอง ได้กลายเป็นพระพุทธศาสนามหายานในที่สุด แม้เรื่องนามรูปใด ๆ มีอยู่ สิ่งนั้นก็เป็นการแต่งขึ้นมาเองทั้งสิ้น
แต่ก็มีคนเชื่อ เหมือนที่เชื่อว่าพระสูตรที่ความเห็น 38 เป็นของจริง
เราเองนั่งพิมพ์ไปคิดไปตอนฝนกำลังตกสบาย ๆ
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:49:26
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:47:11
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:33:39
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ค. 51 02:15:17
จากคุณ : SpiritWithin_HolyStream - [ 28 พ.ค. 51 22:03:46 ]
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 29 พ.ค. 51 11:50:25 ]
ความคิดเห็นที่ 65
^
^
เละเทะใช่ใหมครับ ที่คุณสปิริตกล่าวสมมติเอาเองว่า
"เมื่อไม่ได้รับคำตอบ เราขอสรุปสมมุติว่า (สมมุติ)คุณตอบในความคิดเห็นที่ 43 ว่า พระพุทธเจ้าตรัสชอบแล้ว และผู้ที่ได้อ่านสูตรนั้น จะได้ประโยชน์ จากการคาดคะเนจากคำตอบในความคิดเห็นที่ 40"
และแล้วคุณก็ซัดผมตามที่ยกมาให้ดูนี่
คุณกล่าวอย่างนี้เพราะอะไรครับ
ผมขอย้อนถามอีโก้ของคุณสปิริตว่า คุณจะรับผิดชอบคำกล่าวของคุณใหมครับ ข้างล่างนี้
"แล้วพระสูตรอื่น ๆ ที่เผยแพร่กัน ในมหายาน ซึ่งเราก็ต่างทราบว่า ในการสังคายนาพระไตรปิฎกที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น สังคายนาด้วยภาษามคธทั้งสิ้น แต่ในการสังคายนาครั้งที่สาม เกิดอธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งไม่พอใจ และหนีขึ้นไปทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย พระสงฆ์เหล่านั้น แต่งพระสูตรขึ้นมาใหม่ ด้วยภาษาสันสกฤต ตรงนี้นักประวัติศาสตร์ชาวพุทธทราบกันดี พระไตรปิฎกส่วนนี้เอง ได้กลายเป็นพระพุทธศาสนามหายานในที่สุด แม้เรื่องนามรูปใด ๆ มีอยู่ สิ่งนั้นก็เป็นการแต่งขึ้นมาเองทั้งสิ้น"
ผมถามหาความรับผิดชอบของคนที่กล่าว
ที่มีชื่อนามแฝง ว่า SpiritWithin_HolyStream
เฮอะๆๆๆๆ
Chuck
จากคุณ : JitZungkabuai - [ 29 พ.ค. 51 12:01:55 ]
ความคิดเห็นที่ 66
จากประสบการณ์ส่วนตัว ความหลงผิด ยึดติดผิดๆ มีทั้งในมหายานและเถรวาท
เอาง่ายๆ บ้างคนศึกษามหาสติปัฎฐาน นั่งนึกแยกรูปแยกนาม
พยายามจับความเกิดดับของจิต ตลอดเวลา
ทั้งๆที่ การเกิดดับของจิดมันเกิดทุกขณะ การไปไล่ตามมันเป้นการตามไม่สิ้นสุด
แต่ก็นั่งทำอยู่แบบนั้นแถมคิดว่าเป็นวิธีที่จะให้หลุดพ้น
แต่ถ้าศึกษาดีแล้ว มหาสติปัฎฐานคือการควบคุมสภาวะที่ต่อจากการเกิดดับของจิต
คือ เห็นก็ยอมรับว่าเห็น แต่ไม่ยินดีต่อภาพที่เห็น
เป้นการทำให้มันดับก่อนเกิดกิเลส
ส่วนมหาปรัชญาปารมิตานั้นก็เป้นคำสอนที่สอนเรื่องเดียวกัน
รูปนามล้วนว่างเปล่า เห้นก้ให้แค่ว่าเห็นเช่นกัน เห้นกับไม่เห็นให้มันมีผลเช่นเดียวกัน
ทั้งสองวิธี ไม่ว่าจะ มหาสติปัฎฐานของเถรวาท หรือ ปรัชญาปารมิตาของมหายาน เป็นวิธีฝึก อินทรีสังวร คือควบคุม อายตนะภายใจ ของตนเอง ให้ไม่ฟุ้งด้วยกิเลสทั้งสิ้น
ไม่มีอะไรต่าง เรียนรู้พระสูตรต้องรู้จักปล่อยว่าง มากว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น