พระธรรมคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

กฏแห่งกรรม



กฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
กฎแห่งกรรม
          กฎแห่งกรรม คือ กฎที่แสดงให้เห็นถึงเหตุและผลของการกระทำใดๆ ของมนุษย์ กล่าวคือ ใครกระทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม บุคคลผู้กระทำนั้นจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ เสมอ มิได้เกิดจากการดลบันดาลจากอำนาจของพระเจ้าองค์ใด และไม่มีใครมารับผลของกรรมแทนบุคคลอื่นได้

          พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า ปุพพังคสูตร ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ว่า...
          "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเหนือโลกหล้า ย่อมมีแสงเงินแสงทองจับขึ้นที่ขอบฟ้า เป็นนิมิตเบื้องต้นให้เห็นก่อน ฉันใด ก่อนที่กุศลธรรมทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น ย่อมมีสัมมาทิฐิเป็นนิมิตเบื้องต้นให้เห็นก่อน ฉันนั้น"
          กฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำ เป็นกฎแห่งเหตุและผล เป็นกฎของธรรมชาติ คือ ธรรมฝ่ายใดเกิดขึ้นในใจก็ทำกรรมฝ่ายนั้น เกิดกุศลธรรมก็ประกอบกุศลกรรม เกิดอกุศลธรรมก็ประกอบอกุศลกรรม อย่างนี้เรียกว่า ธรรมชาติ กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต คือ ประกอบเหตุอย่างนี้ต้องไปมีผลอย่างนั้น ประสบผลอย่างนี้เพราะประกอบเหตุมาอย่างนั้น กรรม คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ จะดีหรือชั่ว เจตนาหรือไม่ จะน้อยหรือมาก ทุกเพศทุกวัย ล้วนมีผลทั้งสิ้นที่ไม่มีผลไม่มีเลย ผลบางอย่างปรากฏในปัจจุบันทันตาเห็น บางอย่างเห็นผลตอนตายไปแล้ว กฎแห่งกรรมนี้ไร้ความปรานี ไม่มีข้อยกเว้นให้กับใครๆ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใดก็ตามในโลก จะอยู่บนดิน บนน้ำ บนอากาศ ดวงจันทร์ ดวงดาว ก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราในสมัยที่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์นักสร้างบารมีก็ยังต้องเสวยวิบากกรรม เพราะกรรมติดตามตัวเราไปทุกที่ทุกสถานเหมือนเงาติดตามตัว เมื่อเรายังหนีตัวเราไม่พ้น เราก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้นเหมือนกัน กฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างในโลกที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมา ยังหลีกเลี่ยงเปลี่ยนแปลงได้ ปีนี้ใช้อย่างนี้ปีหน้าเปลี่ยนไปอีกอย่าง แต่กฎแห่งกรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น
" ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ทำดีได้ชั่วไม่มี ทำชั่ว ได้ดีก็ไม่มี


กฎแห่งกรรม ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี
กฎแห่งกรรม
          กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องศึกษาเรียนรู้ ไม่รู้อันตราย ถ้ารู้แล้วเอาตัวรอดปลอดภัยได้ แม้ยังไม่หมดกิเลส แต่ก็จะมีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏได้อย่างปลอดภัยไม่พลัดไปสู่อบายภูมิที่มีความทุกข์ทรมานมาก จะท่องเที่ยวสร้างบารมีอยู่เพียงสองภพภูมิ คือ มนุษยโลกกับเทวโลก ซึ่งการศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้จะทำให้เราดำเนินชีวิตด้วยการสั่งสมบุญบารมีมากกว่า ส่วนที่จะผิดพลาดน้อย ผิดจะไม่ค่อยมี แต่จะมีอยู่เพียงแค่พลาดพลั้ง เผอเรอ ประมาทเลินเล่อ แม้เวลาตายก็จะตายเป็น พร้อมที่จะตายอย่างถูกหลักวิชชาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า
          " จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
           เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ " *กฎแห่งกรรม ผู้ทำกรรมชั่ว หากช่วงเวลาก่อนตาย
จิตใจเศร้าหมอง ทุคติเป็นที่ไป
          กล่าวโดยสรุป คือ ตัดสินกันช่วงเวลาก่อนตายว่าจิตขณะนั้นผ่องใสหรือหมอง ถ้าจิตผ่องใสเพราะสิ้นระแวงก็ไปสบายไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ใจใสขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่สั่งสมไว้ แต่ถ้าจิตหมองมัวก็ต้องไปอบาย ใจหมองขึ้นอยู่กับบาปอกุศลที่เคยกระทำไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาต่อไปว่า อะไรเป็นบุญกุศล อะไรเป็นบาปอกุศล หากไม่ศึกษาก็จะไม่ทราบว่าควรยึดถือใครเป็นเกณฑ์เป็นต้นแบบในการประกอบบุญกุศล เกณฑ์ของบุญกุศลจะต้องเอาท่านผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง เอาความรู้ความเห็นคำสั่งสอนคำแนะนำของท่านเป็นหลัก เพราะท่านที่หมดกิเลสแล้วทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ มีแต่คุณประโยชน์ และคุณงามความดีล้วนๆ พอจับหลักได้ก็ทำตามนั้น คือ ทำแต่กุศลกรรม บุญก็เกิด เมื่อบุญเกิดก็ละอกุศลกรรมได้ บุญจะทำหน้าที่กลั่นจิตใจให้ผ่องใส ดังนั้นเราต้องการผลอย่างไรก็ทำเหตุอย่างนั้น เพราะชีวิตหลังความตายไม่มีการทำมาหาเลี้ยงชีพ ชีวิตในปรโลกของสัตวโลกเป็นอยู่ด้วยบุญและบาป ดีและชั่วเท่านั้น ไม่ใช่ตัดสินที่ความรวย หล่อ สวย เก่ง เฮง ไม่ใช่อย่างนั้น
          พระพุทธศาสนาใช้คำเรียก กฎแห่งกรรม ว่า " กรรมนิยาม" คือ ความแน่นอนของกรรม หมายความว่า กรรมที่เกิดจากการตัดสินใจทำลงไปแล้วย่อมให้ผล การเกิดผลของกรรมทั้งดีและชั่ว เรียกว่าวิบาก ซึ่งมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ท่านจึงเรียกกฎเกณฑ์แห่งวิบากกรรมว่า " กฎแห่งกรรม" ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้" **
สัมมาทิฐิที่เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมนั้น มี 10 ประการ ได้แก่
          1.ทานที่ให้แล้วมีผล
          2.การสงเคราะห์กันมีผล
          3.การยกย่องบูชาบุคคลที่ควรบูชามีผล
          4.ผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง
          5.โลกนี้มี (ที่มา)
          6.โลกหน้ามี (ที่ไป)
          7.คุณของมารดามี
          8.คุณของบิดามี
          9.สัตว์ที่เกิดแบบโอปปาติกะมี
          10.พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วมี



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเรื่องสัมมาทิฐิ 10 ประการ
          สัมมาทิฐิทั้ง 10 ประการนี้ โดยเนื้อแท้คือเรื่องของกฎแห่งกรรม ซึ่งการที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องสัมมาทิฐิ 10 ประการนี้ก่อนอย่างอื่น ก็เพราะว่าสัมมาทิฐิทั้ง 10 ประการนี้ เป็นเบื้องต้นของความดีทุกประการของคนเรา การประพฤติกรรมดีหรือชั่ว หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การกระทำความดีและความชั่วของคนเรานั้น ทำได้ 3 ทาง คือ
          1. ทางกาย (กายกรรม)
          2. ทางวาจา (วจีกรรม)
          3. ทางใจ (มโนกรรม)

ไม่ว่าเราทำอะไรไว้ทั้งกรรมดีและชั่วก็ตาม เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นเสมอ จะให้ใครมารับผลกรรมแทนเราไม่ได
เมื่อทำความเข้าใจพื้นฐานตรงนี้แล้ว ความตระหนักในความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองก็จะเกิดขึ้นตามมา มีผลที่ทำให้ใจของเขาสว่างพอที่จะมองออกต่อไปว่า พระธรรมคำสอนต่างๆที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ แท้จริงทุกคำสอนล้วนเป็นการสอนให้เกิดความเข้าใจถูก ในเรื่องกฎแห่งกรรมดีและกฎกรรมชั่ว ถ้าเราแยกไม่ออกว่าเส้นทางไหน คือ เส้นทางแห่งความดีและความชั่ว เราก็จะมีโอกาสพลาดไปทำความชั่ว แล้วผลทุกข์แห่งความชั่วก็ย่อมตกมาถึงตัวเรา
          เมื่อความเข้าใจของใครก็ตาม ที่มีใจสว่างมาถึงระดับนี้ ความซาบซึ้งในเรื่อง กฎแห่งกรรมของเขาก็จะยิ่งทับทวีแก่กล้าขึ้นไป และจะส่งผลให้ตัดสินใจเลือกทำแต่กรรมดีได้อย่างถูกต้อง เช่น เริ่มตั้งแต่เลือกคิดในเรื่องดีๆ เลือกพูดในเรื่องดีๆ เลือกทำในสิ่งที่ดีๆ เลือกประกอบอาชีพที่ไม่ก่อบาปก่อเวร พากเพียรทำความดีเพิ่มยิ่งขึ้นไป มีสติระมัดระวังตนไม่ให้พลาดพลั้งกลับไปทำความชั่ว และมีสมาธิ(Meditation)ที่แน่วแน่มั่นคงในการทำความดี ไม่หวั่นไหวกับอุปสรรคใดๆ ที่มาขวางกั้นทั้งสิ้น ในที่สุด ความดีที่เขาทำผ่านกาย วาจา ใจ รอบแล้วรอบเล่านี้ ก็ได้กลายเป็นนิสัยดีๆประจำตัวเขาขึ้นมา แล้วก็ทำให้เขาสามารถทำความดีต่างๆให้สูงยิ่งขึ้นไป
          ในทางตรงกันข้าม ถ้าสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ประการนี้ไม่เกิดขึ้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นแทน คำตอบก็คือ ความเห็นผิดเป็นชอบจะเกิดขึ้นแทน เมื่อเห็นผิดเป็นชอบจึงทำความชั่ว เมื่อทำความชั่วบ่อยเข้า นิสัยเลวๆก็เกิด การสั่งสมอาสวะก็เกิด ผลทุกข์ที่เดือดร้อนแสนสาหัสที่ยาวนานก็เกิด และกลายเป็นความทุกข์ที่ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะคิดได้ในวันใดวันหนึ่ง วันนั้นจึงจะเริ่มทำความเข้าใจกฎแห่งกรรม แต่ถ้าในยุคนนั้น ไม่มีพระพุทธศาสนามาบังเกิดขึ้น ก็จะต้องทุกข์ต่อไป วันใดเข้าใจในสัมมาทิฐิเบื้องต้น 10 ประการ วันนั้น คือ วันที่จะได้มีโอกาสพ้นทุกข์
          ดังนั้น สัมมาทิฐิเบื้องต้นทั้ง 10 ประการนี้ จึงเป็นเหมือนกับฐานรากของความดีทุกประการในโลกนี้ อุปมาเหมือนการสร้างตึกสูง 100 ชั้น ถ้าฐานรากของตึกไม่แข็งแรงมั่นคง ตึกก็ย่อมต้องพังถล่มลงมาเป็นซากอิฐซากปูน ฉันใด ความดีของคนเราก็เช่นกัน จะพัฒนาสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ไม่ดีแตกเสียกลางทาง ก็ต่อเมื่อเขามีสัมมาทิฐิเบื้องต้น 10 ประการเป็นฐานรากที่แข็งแรงมั่นคง ฉันนั้น

          ด้วยเหตุที่การศึกษาเรื่องสัมมาทิฐิเบื้องต้น 10 ประการ เป็นเรื่องใหญ่ของมวลมนุษยชาติเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่าสัมมาทิฐิเบื้องต้น 10 ประการนี้ เป็นเบื้องต้นของกุศลกรรมทั้งหลายของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เพื่อให้เราดำเนินชีวิตในโลกนี้ได้อย่างปลอดภัย เราจึงต้องศึกษาสัมมาทิฐิทั้ง 10 ประการนี้ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้
          เรื่องกฎแห่งกรรม พระองค์ได้ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะหากใครกระทำผิดกฎแห่งกรรมแล้ว จะมีผลต่อการดำเนินชีวิต จะต้องได้รับความทุกข์สิ้นกาลนานทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลักกรรมที่พระองค์นำมาสั่งสอนมีปรากฏอยู่หลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่ที่จะนำมากล่าวนี้อยู่ใน เวขสาขชาดก*** ความว่า

          " ยานิ กโรติ ปุริโส ตานิ อตฺตนิ ปสฺสติ
          กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
          ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ รุหเต ผลํ
          บุคคลทำกรรมใด ย่อมมองเห็นกรรมนั้นในตน
          ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว
          บุคคลหวานพืชเช่นใด ผลย่อมงอกขึ้นเช่นนั้น"
กฎแห่งกรรม กรรมที่เกิดจากการตัดสินใจทำลงไปแล้วย่อมให้ผล
ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรม
          การที่เรารู้จักคุณประโยชน์ คุณค่า คุณงามความดีของสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะทำให้เราเป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้อง รู้ทั้งคุณและโทษแล้วเลือกทำแต่คุณความดีอย่างเดียว ในกรณีที่เราศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล สามารถยกระดับจิตของเราจากปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยบุคคลประเภทต่างๆ ซึ่งจะขอยกประโยชน์สำคัญๆ ที่ทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุขในปัจจุบันชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อๆ ไป ดังนี้
          1. ทุกคนต้องกระตือรือร้นทำแต่กรรมดีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะการที่เกิดมามีโชคดีในชาตินี้ เนื่องจากกรรมดีในอดีตส่งผล แต่การให้ผลของกรรมดีนั้นมีวันหมดสิ้นไป จึงต้องสร้างกรรมดีเพิ่ม เพื่อมิให้ผลแห่งกรรมดี คือบุญที่สั่งสมอยู่ในใจมาตั้งแต่อดีตต้องขาดช่วง หรือหมดลง ส่วนผู้เกิดมาโชคร้าย ก็อย่าได้ท้อแท้สิ้นหวัง เพราะเมื่อรู้ว่าอะไรคือกรรมดี กรรมชั่วแล้ว ก็ควรขวนขวายทำแต่กรรมดีกระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็คือการทำอนาคตให้ดี

          2. ไม่สร้างกรรมชั่วเพิ่มอีก เพราะตระหนักถึงผลร้ายที่จะติดตามมาส่งผลให้แก่ตนเอง เพื่อนร่วมโลก และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

          3. ไม่อยู่นิ่งเฉยโดยไม่สร้างกรรมดีอะไรเลย คือ ไม่พึงคิดว่าเราเองก็ไม่ได้ทำความชั่วอะไรเลยฉะนั้นถ้าจะไม่ทำความดีก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ลมหายใจเข้าออกของเราทุกวินาทีต้องอาศัยบุญกรรมที่เคยสั่งสมมาในอดีต ถ้าไม่ทำความดีเพิ่ม ความดีเก่าก่อนที่เพียรสั่งสมมาก็จะหมดสิ้นไป และที่สำคัญสังขารร่างกายของเรานับวันจะเสื่อมถอยลงไปทุกวันๆ ฉะนั้นโอกาสที่จะทำกรรมดีก็เหลือน้อยเต็มที

          4. ใช้สรีระร่างกายให้เหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง หรือร่างกายพิการ เมื่อศึกษาเรื่องกรรมดี กรรมชั่วอย่างถ่องแท้ แล้วเลือกทำแต่กรรมดี ถึงแม้ร่างกายจะพิการแต่ก็ยังสามารถทำความดีได้อีกมาก ต่างกับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแต่เอาไปใช้ทำความชั่ว หรือต่างกับร่างกายของสัตว์ดิรัจฉานแม้จะสมบูรณ์แต่ก็ยากที่จะใช้สร้างกรรมดี ทั้งนี้ ทั้งนั้นแล้ว จะต้องควบคุมกาย วาจา และใจของเราให้สูงส่งไม่ตกต่ำไปตามอำนาจกิเลส

          5. มีศรัทธามั่นคงในเรื่องกฎแห่งกรรม ธรรมชาติของคนมีศรัทธาคลอนแคลนจึงสามารถทำได้ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว จึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมให้ถ่องแท้เข้าไปอยู่ในความคิดจิตใจเป็นนิสัยที่ดีติดตัวไป สามารถตอบตนเองได้ว่าสิ่งที่ทำลงไปแล้วจะมีผลกลับมาอย่างไร เมื่อทำกรรมดีจะส่งผลให้มีธรรมคู่โลกฝ่ายดี คือ ความสุขทั้งสุขภาพร่างกายสุขภาพใจ มีความสำเร็จสมปรารถนาทางเศรษฐกิจดี มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยด้วยอาชีพสุจริต มีเกียรติยศชื่อเสียงขจรขจายเป็นที่เคารพยกย่อง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นกับเราทำให้มีความเป็นอยู่ที่เพรียบพร้อมสนับสนุนการทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

          6. เราสามารถออกแบบลิขิตชีวิตของเราเองได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า สามารถเลือกได้ว่าเราอยากมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายมั่งคั่ง หรือความเป็นอยู่ที่ยากแค้นแสนสาหัส เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถเลือกที่จะทำได้ ถ้าศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมอย่างเข้าใจถ่องแท้ และสามารถจับแง่คิดมุมประเด็นสำคัญของกฎแห่งกรรมได้ นั่นจะทำให้เราสามารถเลือกเกิดได้ด้วยกรรมของตน

          7. สามารถตั้งเป้าหมายชีวิตให้ถูกต้อง เมื่อได้ศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมก็จะพบรากแท้แห่งปัญหาว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ ธุรกิจการงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมเมื่อทราบแล้วก็จะพบเห็นทางออกพร้อมวิธีการแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดคือต้องแก้ไขที่ความคิด ต้องตอกย้ำความคิดที่ถูกต้องให้เข้าไปอยู่ในใจให้ได้ว่า เราเกิดมาเพื่อสร้างความดี สร้างบุญสร้างบารมี ซึ่งสามารถตั้งเป้าหมายชีวิตการทำความดีของเราได้ 3 ระดับ คือ
          - เป้าหมายชีวิตระดับต้น อยู่เย็นเป็นสุข สุขกายสบายใจในภพชาติปัจจุบัน
          - เป้าหมายชีวิตระดับกลาง อยู่เย็นเป็นสุขในภพชาติหน้า คือสุคติโลกสวรรค์
          - เป้าหมายชีวิตระดับสูง ยกระดับกาย วาจา และใจของตนเองให้สูงส่งหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสอาสวะทั้งปวง ไม่ต้องหวนกลับมาเวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป
จิตเดิมแท้ของมนุษย์ทุกคนนั้นประภัสสรคือสว่างใสงดงาม
          8. สามารถตักเตือนสั่งสอนตนเองและแนะนำผู้อื่นให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ จิตเดิมแท้ของมนุษย์ทุกคนนั้นประภัสสรคือสว่างใสงดงาม ดังนั้นเมื่อได้รับรู้รับฟังสิ่งที่ดีจิตก็ผ่องใส เมื่อมีกำลังใจในการทำความดี ก็อยากจะทำตนเองให้ดีและอยากชักชวนแนะนำบอกกล่าวให้คนอื่นทำตาม นั่นคือการทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรแนะนำประโยชน์ เป็นมิตรแท้
          9. ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต เห็นโทษภัยแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นบทสรุปของพระพุทธศาสนาที่ว่าจะทำทาน รักษาศีล หมั่นเจริญสมาธิภาวนา ก็เพื่อให้เกิดปัญญา เพราะปัญญาเปรียบประดุจแสง-สว่างส่องชี้นำทางสัตวโลกให้ดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ถูกต้อง

          10. สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันความบกพร่องทางความคิดแบบผิดๆ มนุษย์มักคิดจินตนาการ เรื่องราวไปต่างๆ นานา จริงบ้างไม่จริงบ้างสมมติเอาเองเสียบ้างก็มี ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดต่อเรื่องราวความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่เป็นกฎธรรมชาติ เช่น ร่างกายของเราต้องแตกสลายไปเป็นธรรมดา ไม่ยั่งยืนยาวนาน แต่บางท่านกลับคิดหายาอายุวัฒนะทำให้มีอายุยืนๆ ทำนองนี้เป็นต้น บ้างก็คิดว่า โลกนี้เที่ยงยั่งยืนไม่มีวันเสื่อมสลายหรือถูกทำลาย และจะเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป โลกนี้โลกหน้าไม่มี เกิดกันชาติเดียว ทุกสิ่งที่ทำไปก็ไม่มีผลอะไร เพราะชีวิตหลังความตายไม่มี ไม่ต้องเกิดต่อไปแล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องอันตรายทำให้เกิดความยึดติดอยู่ในภพไม่คิดออกนอกกรอบคือหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

คนไม่มีศาสนาไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ควรดำเนินชีวิตอย่างไร
          ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรม เปลี่ยนมาเป็นยุคอุตสาหกรรม และปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร หรือที่เรียกว่า โลกไร้พรหมแดน ที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง

          เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีผลต่อความคิด ความเชื่อของบุคคลในสังคมไปด้วย ในยุคแรกๆ คนส่วนใหญ่เชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ อย่างเช่นเทพเจ้า จึงก่อให้เกิดเป็นศาสนาหรือลัทธิเทวนิยมจำนวนมาก และได้สืบทอดความเชื่อเหล่านั้นเรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน แต่เมื่อการพิสูจน์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้คนบางส่วนเริ่มมีความเชื่อในเรื่องเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้มากขึ้น อย่างเช่นในยุคที่ความเชื่อเรื่องเทวนิยมรุ่งเรืองมากๆ มีการเผยแผ่ความเชื่ออย่างกว้างขวางไปทุกมุมโลก ซึ่งในยุคนั้นเริ่มมีนักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น และนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อกาลิเลโอ ได้ค้นพบทฤษฎีต่างๆ มากมาย ที่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความเชื่อทางศาสนา ในขณะเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์นั้นได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถนำเรื่องที่คนสงสัยมาพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ แต่ในที่สุดก็ถูกคุกคามจากศาสนาความเชื่อนั้น จนเกิดความลำบากในการดำรงชีวิต

          ปัจจุบันความเชื่อเหล่านั้นยังคงดำเนินอยู่ แต่มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างให้เหมาะสมกับสภาพการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การศึกษาได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความคิดของมนุษย์ ปัจจุบันได้มีการทำวิจัยเรื่องการนับถือศาสนาของคนในยุคปัจจุบันในหลายประเทศ พบว่ามีแนวโน้มคนที่จะไม่นับถือศาสนาใดๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะบางคนมองว่าเป็นเรื่องงมงาย พิสูจน์ไม่ได้ บางคนไม่เห็นประโยชน์จากการมีศาสนา อยากใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่ต้องมีข้อผูกมัด หรือถูกสร้างกรอบทางความคิดให้กับตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น